ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ชลน่าน’ เดินหน้า ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่’ เฟส 2 ขยาย 8 จังหวัด เริ่ม มี.ค.2567 ชี้งบประมาณบัตรทองปี 67 ล่าช้า แต่ไม่กระทบยกระดับ 30 บาท พร้อมเปิดไทม์ไลน์ดำเนินงาน 3 เฟส เริ่มระยแรกนำร่อง 4 จังหวัด นายกฯเปิดโครงการ 8 ม.ค.67 ต่อเฟส 2 เดือนมี.ค. ขณะที่เฟส 3รักษาภายในเครือข่าย สธ. ‘4 เขตสุขภาพ’ ก่อนขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี

 

ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)  มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินกว่า 2.17 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดวันที่ 14 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีครม.เห็นชอบงบบัตรทอง ว่า ครม.ได้เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในการอนุมัติงบประมาณกว่า 2.17 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว และงบนอกเหมาจ่าย อย่างไรก็ตาม จากนี้จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการในชั้นผู้แทนราษฎร ผ่านคณะกรรมาธิการฯ หากตัวเลขนี้คงอยู่ก็จะส่งไปยังวุฒิสภา จากนั้นหากเห็นชอบก็จะประกาศใช้และได้งบวงเงินดังกล่าว หากไม่มีการปรับลด

เมื่อถามถึงการใช้งบฯกรณียกระดับ 30 บาท โดยเฉพาะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนโยบายของรัฐบาลทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพฯ ได้แจงเม็ดเงินทุกนโยบาย ซึ่งครอบคลุมตามนโยบายใหม่ทั้งหมด โดยงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ประมาณ 165,000 ล้านบาท

งบปี 67 ล่าช้าไม่กระทบนโยบายยกระดับบัตรทอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการพิจารณางบฯครั้งนี้ค่อนข้างล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายยกระดับ30บาทหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลเข้ามาค่อนข้างช้า ดังนั้น งบประมาณที่เราประกาศจึงคำนึงถึงเม็ดเงินด้วย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของงบประมาณที่รองรับ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ประกาศไปทั้ง 13 ประเด็น โดยมี 10 ประเด็นหลักอยู่บนพื้นฐานที่มีงบประมาณทำได้

“จะว่ากระทบ หรือไม่กระทบเป็นสิ่งที่พูดยาก แต่เราทำบนพื้นฐานความเป็นไปได้ของงบประมาณ ซึ่งในปี 67 แผนการใช้งบประมาณปี 67 คาดว่าจะทูลเกล้าฯได้ในช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้นหากมีผลบังคับใช้ก็น่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นไปถึงกันยายนก็เป็นการใช้ตามพรบ.งบประมาณปี 2567 แต่ช่วงก่อนหน้านั้น โดยบทบัญญัติของกฎหมาย กรณียังไม่มีพรบ.รายจ่ายประจำปีออกมาใช้บังคับ ตัวกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนชัดว่าให้ใช้พรบ.งบประมาณเดิมไปก่อน คือ จ่ายตามกฎหมายเดิม และสัดส่วนการจ่าย ทางสำนักงบฯปีนี้กรุณาเป็นพิเศษให้จ่ายได้ถึง 2 ใน 3 ของเม็ดเงินจากกฎหมายเดิม  เช่นกฎหมายเดิมมี 100 บาท จ่ายได้ถึง 60 บาท”รมว.สาธารณสุขกล่าว

เมื่อถามย้ำว่าความล่าช้าของงบประมาณปี 67 จะกระทบนโยบายหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กระทบกับนโยบาย   ในส่วนของแผนงานโครงการเดิมในงบเดิมทำได้ เช่น มิติส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

ขยาย 8 จังหวัดเฟส 2 ใช้บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการซูเปอร์บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพเตรียมเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวเฟส 2 ใน 8 จังหวัดแสดงว่าจะไม่กระทบบริการใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แผนของการดำเนินการโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ในกรอบใหญ่ ตั้งใจว่าภายใน 1 ปีจะใช้ได้ทั่วประเทศ โดยระยะแรกเริ่ม 4 จังหวัดนำร่องรักษาได้ทุกที่ทุกเครือข่าย มีแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส โดยเริ่ม 1 มกราคม 2567 แต่นายกฯจะเปิดโครงการวันที่ 8 มกราคม 2567 ซึ่งโครงการนี้ไม่กระทบกับการใช้งบประมาณแต่อย่างใด

“ส่วนเฟส 2 ตั้งเป้าเริ่มเดือนมีนาคม 2567 จะขยายไปยัง 8 จังหวัด   คือ เพชรบูรณ์ ในเขตสุขภาพที่ 2 จ.นครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 3 จ.สิงห์บุรี ในเขตสุขภาพที่ 4 จ.พังงา ในเขตสุขภาพที่ 11  จ.หนองบัวลำภู ในเขตสุขภาพที่ 8 จ.อำนาจเจริญในเขตสุขภาพที่ 10 จ.นครราชสีมา ในเขตสุขภาพที่ 9 และจ.สระแก้ว ในเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งจะเชื่อมระบบทั้งหมด ทำให้ประชาชนสามารถรักษาได้ทุกที่ในทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน”

ส่วนเฟส 3 เริ่มเดือนเมษายน 2567 จะเป็นการเปิดการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีเขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็นการรักษาเฉพาะในเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข และเบื้องต้นยังไม่สามารถรักษาเข้าเขตได้ ซึ่งขอให้รอการเชื่อมข้อมูลทุกเครือข่ายก่อนและภายใน 1 ปี  เชื่อว่าจะสามารถทำได้ทั่วประเทศ

สิทธิรักษาไม่เหลื่อมล้ำ แม้ขณะนี้รักษาทุกที่จะได้บางจังหวัดก่อน

เมื่อถามว่าในพื้นที่รักษาข้ามเครือข่าย อย่างเอกชนจะสามารถดึงให้เข้าร่วมได้มากแค่ไหน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราพยายามดึงเข้าร่วมมากที่สุด ซึ่งภาคเอกชนสนใจมาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีความสะดวก ประชาชนเข้าถึง และสามารถใช้ทรัพยากรได้ร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน เบื้องต้นหากมีโครงข่ายเข้าถึงได้หมด ภาระงบประมาณที่ใช้ก็จะเป็นความจำเพาะ เช่น จังหวัดเดียวกันที่ใช้ได้ทุกเครือข่าย ประชาชนใกล้ที่ไหนก็จะไปที่นั่นก่อน ซึ่งเราก็วางระบบปฐมภูมิด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่ได้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำของผู้ใช้บัตรทองในแต่ละจังหวัดใช่หรือไม่ เพราะบางจังหวัดรักษาได้ทุกเครือข่าย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็อาจมอง แต่ความพร้อมเชิงระบบเราอธิบายต่อประชาชนได้ หากไม่พร้อมและไปจัดบริการ แทนจะได้ประโยชน์จะเสียหายและไม่เชื่อมั่น ดังนั้น ฐานข้อมูลที่ต้องเชื่อมให้เกิดความพร้อม และมีความเสถียรจึงจำเป็น เหตุที่มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำอาจรู้สึกไม่สะดวก แต่สิทธิที่ได้รับไม่ด้อยกว่าที่เป็นอยู่ คำว่าเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพ จึงไม่ได้เหลื่อมล้ำ  สิทธิการเข้าถึงโดยสะดวกอาจแตกต่าง

เมื่อถามว่ากรุงเทพมหานครจะมีการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ข้ามเครือข่ายเมื่อไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนสูงมาก มีรพ.หลายระดับ จึงต้องอาศัยเวลาในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ขณะนี้กำลังพัฒนา ซึ่งมั่นใจว่าภายใน 1 ปีระบบเสถียรและใช้ได้ภายใน 1 ปี