ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ ‘ประกาศบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 67’ ปรับ 3 ประเด็น รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ  “บริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท.” และ “บริการดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง รองรับสถาชีวาภิบาล” 

วันที่ 17 พ.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบ “(ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567”

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จริงๆ ทราบมาว่ามีการพิจารณาไปแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งในการนำมาพิจารณาอีกครั้งในรอบนี้นั้น เนื่องจากภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเห็นชอบงบประมาณ ปี 2567 ราว 2.17 แสนล้านบาท ให้กับ สปสช. หลังจากนั้น สปสช. มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารกองทุนปี 2567 และได้มีข้อเสนอจากผู้ให้บริการบางส่วน ที่สะท้อนมาใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ 
ประกอบด้วย
 
1. การจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน (IP) ในกรณีที่งบประมาณไม่เพียงพอที่จะจ่ายในอัตราเบื้องต้น 8,350 บาท ให้มีการใช้งบประมาณในแหล่งอื่นๆ เช่น เงินเหลือจ่ายในปี 2567 กรณีเงินเหลือจ่ายไม่เพียงพอใช้เงินจากรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม หรือให้ขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในปีถัดไป และหากดำเนินการดังกล่าวแล้วยังมีเงินไม่เพียงพอให้ยกยอดผลงานบริหารไปใช้ค่าใช้จ่ายจาก Global budget ระดับเขตของแต่ละเขตในปีถัดไป  2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ควรมีงบประมาณรองรับในทุกรายการ  3. การปรับอัตราและรายการบริการ ควรทำในระยะเวลาก่อนบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน รวมถึงให้มีการจัดการประชุมรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านก่อนการประกาศใช้ ตลอดจนการแจ้งอัตราค่าบริการใหม่ให้กับหน่วยบริการทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ร่างประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ จากที่ได้นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ได้มีข้อสังเกตเพื่อให้พิจารณาเช่นกัน ได้แก่ 1. ให้คงงบประมาณการจ่ายรายการบริการผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน (IP) แบบปลายปิด โดยจ่ายตามอัตราเบื้องต้นที่ 8,350 บาท และในกรณีเงินเหลือให้จ่ายคืนหน่วยบริการ ส่วนกรณีเงินไม่พอ ให้จ่ายลดลงตามส่วน รวมถึงหากเงินที่จ่ายลดลงตามส่วนแล้วมีผลต่อสภาพคล่องของหน่วยบริการให้ สปสช. พิจารณาหาแหล่งเงินอื่นๆ เพื่อจ่ายชดเชยเพิ่มเติม

2. ให้พิจารณค่า AdjRW ของ เกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทยและน้ำหนักสัมพัทธ์ ฉบับที่ 5 (DRG ฉบับที่ 5) และ ฉบับที่ 6 ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ และฉบับใดที่มี AdjRW สูงกว่า และ 3. พิจารณาการกันวงเงินระดับประเทศว่าควรกันเพิ่มจากขึ้นจาก 100 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อให้เพียงพอรองรับในการดำเนินการ และ 4. DRG ฉบับที่ 6 จะมีการประกาศใช้เมื่อไหร่

อย่างไรก็ดี โดยสรุปแล้วประเด็นที่มีการปรับปรุงในร่างประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนฯ ฉบับนี้มี 3 ประเด็น คือ 1. บริการผู้ป่วยนอก มีงบประมาณสำหรับรองรับกรณีการดำเนินตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในหน่วยบริการอื่น นอกเครือข่ายบริการประจำหรือปฐมภูมิ และหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้ง 7 หน่วย ได้แก่ คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ ร้านยา คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเวชกรรม และคลินิกเวชกรรม 

2. บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีการปรับการจ่ายตามแผนงานโครงการ ซึ่งจากเดิมเป็นการจ่ายตามแผนงานประจำปีอย่างเดียว และ 3. บริการสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง สปสช. จะมีการปรับการจ่ายให้กับหน่วยบริการที่เป็นสถานชีวาภิบาล เพื่อเตรียมการรองรับนโยบายรัฐบาล 

“ในการบังคับใช้ประกาศบริหารกองทุนฯ ฉบับนี้ จะให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ต.ค. 2566 อย่างไรก็ดี ในบริการต่างๆ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อรองรับ จะเป็นการให้ใช้ได้ตามมติบอร์ด สปสช.” เลขาธิการ สปสช. กล่าว