ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

14 พฤศจิกายน “วันเบาหวานโลก” สปสช. ร่วมรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน” กองทุนบัตรทอง 30 บาท มีสิทธิประโยชน์ “บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง” เผยปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยฯ รับบริการกว่า 4.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.70 ของเป้าหมาย ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 จัดสรรงบกว่า 1.12 พันล้านบาท เพื่อดูแลต่อเนื่อง 

วันที่ 14 พ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และหากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสมรรถภาพและทำงานล้มเหลวได้ นับเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนมากกว่า 500 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 6.7 ล้านคน โดยในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มเป็นจำนวนกว่า 600 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) 

ดังนั้น เพื่อให้ทั่วโลกมีความตระหนักต่อโรคเบาหวานนี้ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติและองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันเบาหวานโลก” เริ่มตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา และในปี 2566 ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน” เพื่อเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นการป้องกันโรคเบาหวานสู่ภาวะที่รุนแรง 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์โรคเบาหวานของประเทศไทย ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 5.1 ล้านคน จากประชากรประมาณ 67 ล้านคน โดยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” มีสิทธิประโยชน์ “บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง” เพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง  

ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

จากข้อมูลการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีประมาณ 2566 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้รับบริการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อน เพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มคุณภาพบริการตามมาตรฐานการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4,269,315 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.70 ของเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 4,370,013 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและเบาหวานที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมจำนวน 2,083,451 คน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 2,185,864 คน 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2567 นี้ สปสช. ได้มีการจัดสรรงบประมาณค่าบริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง โดยเป็นค่าบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานจำนวน 1,123.99 ล้านบาท ครอบคลุมการดูแลทั้งการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หญิงตั้งครรภ์ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ที่พบเป็นโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมียังมีบริการคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูงพร้อมให้คำแนะนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค 

จากบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ซึ่งจะทำให้ทราบภาวะน้ำตาลในร่างกายและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยง อาทิ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลี่ยงรสหวาน มัน เค็ม ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเจ็บป่วยรุนแรงรวมถึงโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุจากเบาหวาน ได้แก่ หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา และโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น  

“ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก ปีนี้รณรงค์ภายใต้คำขวัญ “เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน” สปสช.ขอร่วมรณรงค์ให้ประชาชนไทยร่วมกันตระหนักต่อโรคเบาหวานนี้ แม้ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่ก็ถือเป็นภัยร้ายคุกคามสุขภาพของคนไทยที่นำไปสู่โรคร้ายแรงตามมาได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว