ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุกรรมการวิชาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห่วงขยายเวลาเปิดผับบาร์ อุบัติเหตุบนถนนเพิ่ม 27% เสียชีวิตเพิ่ม 10-20 คนต่อวัน รวบรวมบทเรียน ตปท. ที่รัฐยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีคดีทำร้ายร่างกายเพิ่ม พบปัญหาทะเลาะวิวาท เมาแล้วขับ อุบัติเหตุพุ่ง  

จากกรณีการขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง ถึงเวลา 04.00 น. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นำเสนอผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้

ข้อมูลปี 2564 ผลการศึกษาประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งหมดของไทยสูงถึง 165,450 ล้านบาท หากขยายเวลาจะทำให้มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การบาดเจ็บบนท้องถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เสียชีวิตเพิ่ม 10-20 คนต่อวัน ขณะที่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มเพียง 3,700 ล้านบาท

บทเรียนจากต่างประเทศ จากการที่รัฐยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า นอร์เวย์มีคดีทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น ออสเตรเลียมีการดื่มแอลกอฮอล์และเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมากขึ้น ไอซ์แลนด์มีจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุ มารักษาพยาบาลที่ห้องฉุกเฉินมากขึ้น รวมถึงมีปัญหาการทะเลาะวิวาทและการขับขี่ขณะมึนเมาเพิ่มมากขึ้น

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมในด้านการผลิตและมาตรการอื่น ๆ เช่น จำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มมากขึ้น 18.51% ส่งผลต่อสุขภาพและสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น ป่วยเพิ่มขึ้นจากเดิม 8,817-10,511 คนต่อปี และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,938-2,201 คนต่อปี

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะทำงานวิชาการ ภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวกับ สำนักข่าว Hfocus ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการฯ ว่า คณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงด้านสภาพปัญหาในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่า จะเกิดผลเสียต่อชีวิตและสุขภาพประชาชนอย่างไร ซึ่งตัวเลขนี้จะส่งต่อกับฝ่ายนโยบายให้ไตร่ตรองว่า จะชั่งน้ำหนักและตัดสินใจแบบไหน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

"เราสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็มีอยู่หลายมิติ นอกจากมิติเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังชูอยู่ ก็ยังมีมิติเรื่องของสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งแวดล้อมด้วย ข้อกังวลของเรา คือ การตัดสินใจเปิดสถานบันเทิง รัฐบาลอาจมองเพียงมิติทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้มองในมิติเรื่องผลกระทบของการเสียชีวิต การบาดเจ็บ พิการ ที่เกิดได้จากสาเหตุของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีตั้งแต่ปัญหาเมาแล้วขับ เกิดการทะเลาะวิวาท หรือเกิดความรุนแรงต่อสมาชิกในครอบครัว" นพ.คำนวณ กล่าว

 

นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันการเสียชีวิตจากการขับรถมีประมาณ 50-60 คนต่อวัน หากขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง คาดว่าจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นร้อยละ 27 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 10-20 คนต่อวัน อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ เยาวชนอาจจะเที่ยวสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น และอยู่เที่ยวนานขึ้นด้วย 

สำหรับการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ นพ.คำนวณ กล่าวว่า แม้ว่าในต่างประเทศจะมีมาตรการควบคุมอย่างดี ตัวเลขก็ยังเพิ่มขึ้น ในบริบทของสังคมไทยก็ต้องดูว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงพอหรือไม่ที่จะดูแล นอกจากนี้ การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ยังไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เพราะข้อมูลจากการสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้ามาเที่ยวดูธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงอาจมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่คุ้มค่า ทางคณะทำงานฯ จึงฝากมาตรการเรื่องการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้ดื่มน้อยลง ส่งผลดีต่อสุขภาพประชาชน ด้านรัฐบาลก็มีเงินเพิ่มขึ้นด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

สธ.เตรียมประเมินผลกระทบหลังประกาศใช้จริง! กรณีขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4

รมว.สาธารณสุข จ่อปรับกฎหมายคุมขายเหล้า ทำอย่างไรขยายเวลาเปิดผับบาร์ไม่ก่ออันตราย