ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยการก่อเหตุของนักเรียนอาชีวะ เป็นปัญหาความรุนแรงเฉพาะบุคคล การแก้ปัญหาไม่ใช่การเหวี่ยงแห ต้องดูแลแบบเจาะจงกลุ่มเสี่ยง พร้อมแนะวิธีแก้ไขทั้งระบบ สร้างSelf-esteem ในทางที่ถูก

 

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน  ที่กรมสุขภาพจิต นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการก่อเหตุของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ มีการรวมกลุ่มเป็นลักษณะองค์กร และมีการช่วยเหลือทางคดี ว่า การก่อคดีของกลุ่มนักเรียนอาชีวะต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าไม่ใช่เรื่องของนักเรียนทุกคน เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล และไม่ใช่เรื่องของ 2 สถาบันเท่านั้นตามที่เป็นข่าว (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน) โดยพฤติกรรมการก่อความรุนแรงแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย 1. ปัจจัยหลักเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ และแนวโน้มการก่อความรุนแรง มีอยู่ในพื้นฐานเฉพาะบุคคลอยู่แล้ว และ 2. ปัจจัยแวดล้อม หรือปัจจัยเสริม ได้แก่ รุ่นพี่ หรือ นักเรียนในอดีตของสถาบันฯ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ล้วนแต่มีปัญหาเรื่อง  Self-esteem การเห็นคุณค่าในตนเอง ที่เป็นในทางลบ ไม่ใช่การชักชวนการแสดงออกในทางบวก  

 

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า นี่คือปัญหาความรุนแรงเฉพาะบุคคล การแก้ปัญหาไม่ใช่การเหวี่ยงแห ต้องดูแลแบบเจาะจงกลุ่มเสี่ยง ซึ่งครูประจำชั้นจะสังเกตเห็นได้อยู่แล้วว่า นักเรียนคนไหนพฤติกรรมเป็นอย่างไร เช่น  การขาดเรียน, ผลการเรียน หรือมีการให้ทำแบบสอบถาม จากนั้นครูก็จับคู่ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ การดูแลเอาใจใส่ต่างๆ หรือกรณีมีการทำผิดก็เชิญผู้ปกครองเข้ามาพูดคุย ร่วมกันหาทางออก ทั้งนี้ ในช่วงของการเปิดเทอมใหม่หากครูสามารถสังเกตได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปลี่ยนตั้งแต่ระดับนโยบาย ให้เป็นการศึกษาแบบทวิภาคี คือ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการดูแลทั้งในระบบการศึกษา และระบบการทำงาน จะเป็นการเสริมเรื่องของการรับผิดชอบ เป็น Self-esteem ทางบวก ยกตัวอย่างที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเด็กเรียนอาชีวะมากกว่าระดับอุดมศึกษา แต่ไม่มีปัญหาความรุนแรงข้ามสถาบันเลย เนื่องจากมีการจัดการศึกษาอาชีวะจะเป็นแบบทวิภาคี 100% ทุกคนอยู่ในระบบ   

 

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขปัญหารุ่นพี่ มีแอบแฝงเข้ามาหาประโยชน์ หรือ การสร้างการยอมรับในหมู่รุ่นน้องนั้น เชื่อว่าทางตำรวจ มีระบบการจัดการได้ สามารถตรวจสอบ และจับกุม หากมีการส่งเสริมให้กระทำความผิด แต่การนำเสนอข่าว หรือ พฤติกรรมของรุ่นพี่ เหล่านี้ เมื่อเป็นเรื่องที่ถูกเปิดเผยขึ้น ต้องไม่นำเสนอแบบดราม่า ยกย่อง เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ กลายเป็นการส่งเสริม ให้เกิด Self-esteem ในทางที่ผิด