รมว.สาธารณสุข บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ไม่ยกเลิก! ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อเสนอ ก.พ. ให้มีการจัดสรรตำแหน่งก่อน ส่วนค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบแรก ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเอกสารให้ครบ เพื่อเตรียมเสนอของบเสี่ยงภัยรอบสองต่อไป ยืนยันให้ความสำคัญทุกสายงานทุกวิชาชีพ ขณะนี้เดินหน้าหารือแยกตัวออกจาก ก.พ. เพื่อจัดสรรอัตรากำลังอย่างเหมาะสม
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ครบ 81 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 5 แสนคน แม้ต่างสังกัด ต่างหน้าที่ แต่ก็ร่วมกันรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านอุปสรรคและวิกฤตกันมาหลายครั้ง ดังนั้น การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความมั่นคง มีสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ อย่างเหมาะสมทุกวิชาชีพ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักและนโยบายที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ (Quick Win)
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคนประสบอยู่ ตนพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ทุกปัญหาอุปสรรค และมีความจริงใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้กับบุคลากร อย่างเงินเดือน ค่าตอบแทน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับภาระงาน ตรงนี้เราเข้าใจ และพยายามช่วยเหลือเมื่อมาดำรงตำแหน่งนี้ อย่างสมัยก่อนแทบไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ถึงแม้ตอนนี้จะมีเงินค่าตอบแทน ซึ่งได้ในระดับหนึ่ง
“อย่างเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 เราพยายามติดตามอยู่ อย่างค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบสองตั้งแต่ครึ่งหลังเดือนมิถุนายน - กันยายน 2565 ก็จะมีการดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมมาจ่าย ส่วนเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดรอบแรกที่กำลังจ่ายอยู่นั้น(ก.ค. 2564 - ครึ่งเดือนแรก มิ.ย. 2565) ยังติดปัญหาข้อมูลเอกสารที่ยังไม่ครบถ้วน จึงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันติดตามเรื่องนี้” รมว.สาธารณสุขกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง หรือการบรรจุตำแหน่งข้าราชการสำหรับผู้ปฏิบัติงานโควิดนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) มีข้อสังเกตว่า ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข บรรจุตำแหน่งที่มีอยู่ให้หมดก่อน จึงจะเริ่มเปิดโครงการบรรจุโควิดรอบสอง เรื่องนี้ไม่ได้ตัดออก เพียงแต่รองานธุรการของทางก.พ. ส่วนเรื่องสายงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มระดับชำนาญการพิเศษของพยาบาลวิชาชีพก็กำลังดำเนินการเช่นกัน
“สิ่งหนึ่งที่เราพยายามต่อสู้และให้ความสำคัญเรื่องการบริหารงานบุคคล เราพยายามเสนอไปยัง ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือก.พ.ร. ก็อยู่ระหว่างพูดคุยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเราพยายามหาทางออกเพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกับภาระงานเรา ซึ่งงานเราเป็นงานบริการจำเพาะค่อนข้างเยอะ จะหาทดแทนก็ค่อนข้างยาก ดังนั้น ความจำเพาะตรงนี้หากจะใช้มาตรฐานเดียวกัน เหมือนตัดเสื้อโหลจะลำบากมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการหารือกับ ก.พ.ว่า เราจึงจำเป็นควรแยกตัวออกไป และมีคณะกรรมการบริหารบุคคลฯ หรือก.สธ.ในการดำเนินการตรงนี้" รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องภาระงานในห้องฉุกเฉิน อุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือมารับบริการที่ไม่ได้เข้าข่ายฉุกเฉิน จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งมีข้อเสนอให้ทาง สธ.ช่วยหาทางออกแก้ปัญหา “ห้องฉุกเฉินภาระงานล้น” นั้น ทางเรารับเรื่อง ซึ่งเรายึดประชาชนเป็นส่วนกลาง แต่ในเรื่องการจัดระบบเพื่อไม่ให้ภาระงานมากจนเดือดร้อนเกินไป เราก็จะหาทางออกร่วมกันให้ได้
นอกจากนี้ ในเรื่องกรอบอัตราเงินเดือนนั้น ตรงนี้เป็นนโยบายรัฐบาล หากเราแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงรวมได้ อย่างอัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้มากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ทุกอย่างก็จะดำเนินการตามนโยบายได้ เช่น ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ อย่างเรื่องนโยบายสร้างขวัญกำลังใจ ก็เป็นหนึ่งในควิกวินที่เราดำเนินการต่างๆ อย่างล่าสุดเรื่องลดภาระหนี้สินภาระงานต่างๆ ก็มีโครงการออกมาเช่นกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอชลน่าน” ผุดโครงการแก้ภาระหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ลดจ่ายดอกเบี้ยโหดบุคลากรสธ.)
- 4433 views