ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายแก้ภาระหนี้สิน คนสธ. ร่วมมือธนาคารออมสินจัด 2 โครงการหลักเริ่ม 8 ธ.ค.66  พร้อมช่วยคนเป็นหนี้นอกระบบ จ่ายดอกเบี้ยโหดสูงราว 20%  ผุดโครงการกู้ยืมวงเงินไม่เกิน 2 แสนจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.7% ต่อเดือน บรรเทาปัญหา ส่วนใครเป็นหนี้พนันออนไลน์จัดที่ปรึกษาผ่าน “คลินิกพิเศษทางการเงินฯ” ที่จะมีขึ้นในรพ.สังกัดสธ.

 

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน  ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เป็นประธานมอบนโยบาย  "แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข"  ในการประชุมชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ผ่านการประชุมทางไกลและ Facebook Live โดยมี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม

โดย นพ.ชลน่าน  กล่าวว่า วันนี้(27 พ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับธนาคารออมสิน ได้ร่วมกันจัดทำโครงการความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการเงิน หรือเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สิน สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นข่าวดีในเรื่องนี้  เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยเหลือในส่วนของบุคลากรที่เดือดร้อนเป็นหนี้ โดยมอบหมายให้ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรสาธารณสุข  ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสิน ทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากร   ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี "คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) ประกอบด้วย  2 โครงการหลัก คือ

โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ หรือ รีไฟแนนซ์  2.ซื้อบ้านหลังใหม่  3.ปลูกสร้าง และ 4.ต่อเติมซ่อมแซม จากข้อมูลพบว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือน ซึ่งดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3 พันล้านบาทต่อปี

 

โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ

2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ 1.สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น  2.สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ 3. สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด และ4.สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน โดยดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาทต่อปี

“โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงโครงการแก้หนี้นอกระบบ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นโครงการหนึ่งโดยเป็นสินเชื่อสวัสดิการให้แก่รายย่อย วงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.70-0.75% ต่อเดือน

เมื่อถามว่าเรื่องนี้บรรจุอยู่ในแพคเกจของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการแบ่งเบาภาระหนี้นอกระบบในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้รวม เนื่องจากโครงการนี้เป็นของกระทรวงสาธารณสุขที่หารือกับทางธนาคารออมสิน

แบงก์ออมสินร่วมช่วยคนสธ.กรณีหนี้นอกระบบ-หนี้พนันออนไลน์

ด้านนายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงแนวทางแก้หนี้นอกระบบให้กับบุคลากรสาธารณสุข ว่า  บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่อาจมีการกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 หมื่นบาท หรือเป็นหนี้ไฟแนนซ์อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ก็สามารถมาดำเนินการกู้เงินกับโครงการนี้ได้ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งตรงนี้จะช่วยคนมีหนี้นอกระบบ หรือกู้เงินมาแต่ต้องใช้คืนดอกเบี้ยสูงๆ แต่โครงการนี้จะมีดอกเบี้ยน้อยมากประมาณ 0.7% ต่อเดือน หรือรวมๆประมาณ 8%ต่อปี ซึ่งถูกกว่าไฟแนนซ์ประมาณ 15% และหนี้นอกระบบประมาณ 5% โดยให้สิทธิบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่มีประมาณ 4-5 แสนคนจะได้สิทธิตรงนี้ ส่วนรายละเอียดก็สามารถติดต่อกับทางคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดขึ้นในองค์กรของตน เป็นที่ปรึกษาให้สอบถามรายละเอียดได้

“ตรงนี้ไม่มีอะไรค้ำประกันเลย โดยใครร่วมโครงการก็จะหักจากเงินเดือนได้ แต่วัตถุประสงค์หลักๆ คือ ไม่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยสูงๆ ส่วนคนที่เป็นหนี้นอกระบบก็จะมีที่ปรึกษาในการสร้างวินัยการเงิน ยิ่งบางคนหนี้หนี้พนันออนไลน์ หรือการพนันอื่นๆ ก็ต้องมาปรึกษาว่า จะเลิกแน่ๆ สิ่งเหล่านี้ทางธนาคารออมสินได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่แบ่งเบาเรื่องดอกเบี้ย แบ่งเบาภาระหนี้สิน แต่ยังสร้างวินัยทางการเงิน การบริหารใช้จ่ายอย่างเหมาะสมด้วย” นายวุฒิพงษ์ กล่าว

พญ.นวลสกุล กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพ พร้อมไปกับการดูแลบุคลากรทุกคน ทุกระดับ และทราบถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน จึงได้ตั้งคณะทำงานเจรจาหารือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รวมกว่า 2 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอสวัสดิการทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย สร้างสภาพคล่องทางการเงิน เสริมกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ชาวกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนบุคลากรทุกคนที่ได้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศจนมีผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

เมื่อถามถึงการตั้ง"คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" จะมีในรพ.สังกัดทุกแห่งหรือไม่ พญ.นวลสกุล กล่าวว่า  คลินิกแห่งนี้จะมีทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยจะเป็นทีมจากบุคลากรสาธารณสุขร่วมกับทางธนาคารออมสินในการให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจ และวางแผนการใช้เงินอย่างมั่นคง ซึ่งในการประชุมวันนี้จะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารองรับ

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  “ชลน่าน” เดินหน้าช่วยบุคลากร ทั้ง ‘บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง’  และ ‘เงินค่าเสี่ยงภัย’)