ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวโพนพิสัยปลื้ม รมว.สธ.วางศิลาฤกษ์ อาคารผู้ป่วยในหลังใหม่ 5 ชั้น ขนาด 114 เตียง ใช้งบประมาณ 93 ล้าน “หมอชลน่าน” ลั่น นโยบายรัฐบาลยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ดันหนองคาย เป็นเมดิคัลฮับในอาเซียน

โรงพยาบาลโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย สร้างอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น ให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งชาวไทย และ สปป.ลาว พร้อมพัฒนาเป็นโรงพยาบาลระดับ A ให้บริการเฉพาะทางและเป็นหน่วยฝึกสอนบุคลากรทางการแพทย์ตามมาตรฐาน SAP เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางศิลาฤกษ์ คาดแล้วเสร็จมีนาคม 2568 

วันที่ 29 พ.ย. 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น โรงพยาบาลโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยระบุว่า อำเภอโพนพิสัย เป็นอำเภอหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดหนองคายและของประเทศ เนื่องจากมีจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-ลาว เป็นจุดศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจ ที่มีประชาชนจาก 2 ประเทศ ข้ามมาทำการค้า การลงทุน และเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลโพนพิสัยเป็นสถานบริการหลักที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 93 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น (114 เตียง) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,797 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2568 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนที่จะขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงทางสุขภาพ โดยยกระดับบริการ 30 บาท รักษาทุกโรค เป็น 30 บาท รักษาทุกที่ (30 Baht+ Upgrade) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และยังสอดรับกับแผนการยกระดับโรงพยาบาล SAP ของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลโพนพิสัยจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลระดับ A (Academy) ซึ่งนอกจากให้บริการเฉพาะทางแล้ว 
ยังเป็นหน่วยฝึกสอนบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

สำหรับโรงพยาบาลโพนพิสัย เป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ขนาด 120 เตียง มีแพทย์เฉพาะทาง 6 สาขา รองรับประชากรในพื้นที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอเฝ้าไร่ และอำเภอรัตนวาปี รวมกว่า 187,000 คน และยังมีประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ารับบริการด้วยส่วนหนึ่ง โดยมีผู้ป่วยนอกประมาณ 70,000 คนต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 11,000 คนต่อปี