ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 66 ก.แรงงาน - สสส. – ม.เชียงใหม่ เปิดเวทีถกกฎหมายลูกจ้างทำงานบ้าน หาแนวทางคุ้มครอง ชูข้อเสนอเชิงนโยบาย และปฏิบัติการสานพลัง 14 องค์กรแรงงาน เข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการ-ความเท่าเทียม หลังพบเกินครึ่งไม่มีความรู้ดูแลสุขภาพ ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการ เข้าไม่ถึงการรักษา 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ณ กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายองค์กรแรงงาน จัดงานเสวนา “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ปี 2566 นำเสนอข้อเสนอนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ การจัดสวัสดิการ สุขภาวะที่เท่าเทียมทางสังคมที่จำเป็นต่อลูกจ้างทำงานบ้าน 

นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียน  กระทรวงแรงงานสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2562 โดยแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างให้ความคุ้มครองลูกจ้าง เกี่ยวกับห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง สิทธิในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี การจ่ายค่าจ้างวันลาป่วย การห้ามนายจ้างล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011

นอกจากนี้มีเป้าหมายปรับปรุงแก้ไขกฏกระทรวง ฉบับที่ 14 เพิ่มความคุ้มครอง พร้อมผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มนี้ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เป้าหมายของเวทีนี้เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นถึงแนวทางให้เกิดการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งไทยมีแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายจาก 4 ประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทั้งหมด 2,333,079 ล้านคน รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบจดทะเบียน และกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ยืนยันสถานะบุคคลกว่า 1 ล้านคน แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ปัจจุบันมี 111,954 คน เป็นชนกลุ่มน้อยสัญชาติอื่น 5,055 คน เช่น ลาหู่ ปะหล่อง มอญ จีน ไทยลื้อ จากสำรวจสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปี 2565 พบแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่ง มีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น กินหวานจัด เค็มจัด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาไทย จึงทำให้ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ นำไปสู่ข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ

“สสส. ม.เชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย 14 องค์กร ร่วมทำงานสอดรับกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจโดยตรง ทำชุดข้อเสนอขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และปฏิบัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ต่อกระทรวงแรงงาน 1.การบริหารจัดการสุขภาพทั้งระบบ เช่น ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง  มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง สิทธิลากิจโดยได้รับค่าจ้าง กำหนดค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ห้ามเลิกจ้างลูกจ้างตั้งครรภ์ สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 98 วัน แนวปฏิบัติการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่ต่ำกว่า 15 ปี  ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานรับพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 2.ขับเคลื่อนเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพ พัฒนาสถานะบุคคลให้แรงงานที่ไม่มีบัตร เอกสารประจำตัว 3.พัฒนากลไกเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และการคุ้มครอง รวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลไกช่องทางเข้าถึงคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งหมดนี้เพื่อคุ้มครองทุกมิติของชีวิต และการทำงานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ยกระดับชีวิตให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น” นางภรณี กล่าว

ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ที่ตัวบุคคลอย่างเดียว ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมเสนอนโยบาย ออกกฎหมายแก้ไข ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ สสส. ภาคีเครือข่าย จัดตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ปัญหาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ  โดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตร นอกจากนี้จำเป็นต้องพัฒนากลไกในสำนักงานประกันสังคม ให้ตรวจสอบสิทธิของตนเอง โดยนายจ้างมีการหักจ้างเพื่อส่งเงินสมทบประกันสังคม รวมถึงทำงานกับโรงพยาบาลสร้างต้นแบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิเสธการขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ และนโยบายของโรงพยาบาลส่งเสริมและป้องกันโรคในกลุ่มนี้ โดยสำนักงานประกันสังคมดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างแรงงานข้ามชาติที่ ทำงานพื้นที่ชายแดนได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 33 และกองทุนเงินทดแทน อนุญาตให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน เป็นลูกจ้างเข้าถึงสิทธิสวัสดิการได้มากขึ้น  เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีตัวตนถูกยอมรับ และมีชีวิตการทำงานที่มีสุขภาวะ ไม่ถูกมองข้าม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง