ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทารกแรกเกิดเสียชีวิตน้อยลง! สธ.มุ่งส่งเสริมพัฒนาการในเด็กที่เกิดก่อนกำหนด ใช้เครื่องมือดูแล เฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง แก้ปัญหาพัฒนาการของเด็กคลอดก่อนกำหนด 

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการพัฒนาการเด็กแห่งชาติ หัวข้อ ทิศทางการดูแลพัฒนาการของเด็กคลอดก่อนกำหนด (What Next for Preterm Baby) โดยผศ.พิเศษ นพ.ศุภวัชร บุญกษิดิ์เดช เลขานุการ Service Plan สาขาทารกแรกเกิด กล่าวว่า ทารกแรกเกิดเป็น 1 ในสาขาหลักของ Service Plan คือ อันดับ 4 จากทั้งหมด 20 สาขา เพราะอัตราการเสียชีวิต และสาเหตุการเสียชีวิต เป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ โดยภาพรวมอัตราทารกแรกเกิด มีเป้าหมายให้อัตราตายทารกแรกเกิดน้อยกว่า 3.60 : 1,000 (ทารกเกิดมีชีพ) ภาพรวมปี 2021 ยังสูงอยู่ แต่ตอนนี้ล่าสุดตัวเลขคือ 3.63 ใกล้ถึงเป้าหมายแล้ว แต่ตัวเลขไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญ คุณภาพของคนทำงาน และคุณภาพของผู้ป่วยสำคัญกว่า

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กฯ พบว่า อัตราการรอดชีวิตของทารกแรกเกิดก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น แยกตามช่วงน้ำหนัก 

  • น้ำหนักทารกคลอดก่อนกำหนดต่ำกว่า 1,000 กรัม 60 เปอร์เซนต์
  • น้ำหนักทารกคลอดก่อนกำหนด 1,000-1,499 กรัม 94.74 เปอร์เซนต์
  • น้ำหนักทารกคลอดก่อนกำหนด 1,500-2,499 กรัม 99.78 เปอร์เซนต์

แผนการดำเนินงานกรมการแพทย์เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 2567 ประเด็น 11 ส่งเสริมการมีบุตร

ผศ.พิเศษ นพ.ศุภวัชร กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นจะทำเป็นโมเดลก่อน จากนั้นมีแผนในการเชิญโรงเรียนการแพทย์ทุกแห่งมาร่วมกันประเมินเพื่อทำไกด์ไลน์ ในการส่งเสริมการมีบุตรและดูแลทารกแรกเกิด 

"เด็กคลอดก่อนกำหนดที่รอดชีวิตมาแล้ว หน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขทุกคนมีความสำคัญ ตรวจเจอให้ได้ไว กระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการ แล้วส่งต่อแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เครือข่ายความร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่ออนาคตของประเทศ เด็กที่เกิดน้อยต้องทำให้มีคุณภาพที่สุด"

พัฒนาการในเด็กที่เกิดก่อนกำหนด

ผศ.พญ.ดุษฎี เงินหลั่งทวี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า เด็กคลอดก่อนกำหนดมักจะมีความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือพฤติกรรมเด็ก เช่น พัฒนาการด้านสมอง เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีรอยหยักทางสมองน้อยกว่า โดยปัจจุบัน อัตาการเกิดพัฒนาการผิดปกติ จะอ้างอิงตามอายุครรภ์และน้ำหนักของทารกที่คลอด ความชุกของปัญหาทางด้านพัฒนาการแปรผกผันไปตามอายุครรภ์หรือน้ำหนักของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งน้ำหนักของทารกคลอดก่อนกำหนด หากมีมากกว่า 1,000 กรัม ปัญหาดังกล่าวก็จะน้อยลง

  • ความบกพร่องด้านพัฒนาการ ในระยะ 2 ขวบปีแรกที่จะเจอได้
  • หากคลอดในอายุครรภ์ 26-27 สัปดาห์ โอกาสของสติปัญญาล่าช้าสูงถึง 10.9 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับทารกที่คลอดปกติ กล้ามเนื้อล่าช้า 12 เปอร์เซนต์
  • หากคลอดในอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ โอกาสของสติปัญญาล่าช้าจะมีเปอร์เซนต์ลดลงเหลือ 5.8 เปอร์เซนต์ กล้ามเนื้อล่าช้า 6.3 เปอร์เซนต์  
  • น้ำหนักคลอดของทารกคลอดก่อนกำหนด ยิ่งน้ำหนักคลอดน้อยก็จะมีปัญหาสมองพิการมากกว่า
  • ความบกพร่องด้านพฤติกรรม โอกาสเสี่ยงเป็นออทิสติก 3.3 เท่าของทารกปกติ สมาธิสั้น 3-4 เท่าของทารกปกติ

"ทุกคนมีโอกาสบกพร่องทางด้านพัฒนาการ ถ้าเจอเด็กที่คลอดก่อนกำหนดสามารถใช้ไกด์ไลน์ได้ เช่น ก่อนอายุ 9 เดือน พบว่า แขนขาขยับไม่เท่ากัน กำหัวแม่มือแน่นหลังอายุ 3 เดือน มือไม่คลาย พลิกตัวได้ก่อนอายุ 4 เดือน อาจเกร็งทั้งตัวไม่ใช่การพลิกตัว และเด็กที่นั่งไม่ได้ตอน 9 เดือน อาจมีความเสี่ยงสมองพิการ ต้องได้รับการตรวจอีกครั้ง ส่วนกลุ่มที่อายุเด็กเกิน 2 ปีแล้ว ให้สังเกตความบกพร่องในระยะหลัง เช่น อาการไม่นิ่ง ขี้กังวลเกินไป ทักษะทางสังคมไม่ดีคล้ายกลุ่มออทิสติก การประสานงานกล้ามเนื้อบกพร่อง กล้ามเนื้อที่ใช้ขีดเขียนไม่ดีหรือไม่ ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้าได้ไหม ทักษะการเรียนบกพร่อง เหล่านี้เป็นแนวทางในการดูแลเรื่องพัฒนาการ" ผศ.พญ.ดุษฎี กล่าว

เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตความเสี่ยงเรื่องพัฒนาการ

ส่วนการดูแลเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในประเทศไทย พญ.จันทร์อาภา สุขทัพภ์ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยติดตามพัฒนาการอย่างเป็นระบบ โดยเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสามารถติดตามได้ ข้อมูลที่ใช้จะดูจากเด็กแรกเกิดที่น้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม 

ในเด็กทุกคนจะใช้เครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการ ติดตามความเสี่ยงสำหรับผู้ปกครอง เรียกว่า DSPM คัดกรองโดยบุคลากรสาธารณสุขด้วย แต่หากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงน้ำหนักน้อย (Low Birth Weight หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม) และเด็กที่มีภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด (Birth Asphyxia) จะใช้เครื่องมือ DAIM สำหรับผู้ปกครองในการติดตามเด็ก โดยจะคัดกรองตามอายุเด็ก

  • 9 เดือน
  • 18 เดือน
  • 30 เดือน
  • 42 เดือน
  • 60 เดือน

ระบบจะคัดกรองโดยบุคลากรสาธารณสุข หากพบว่า พัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งไม่ตรงตามอายุ อาจพัฒนาการล่าช้า จะให้ผู้ปกครองส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามเครื่องมือที่ให้ไปก่อน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะได้เครื่องมือ DAIM แล้วติดตามต่อ 30 วัน หากประเมินอีกครั้งพบว่า มีพัฒนาการล่าช้า ก็จะวินิจฉัยและใช้เครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก กรมสุขภาพจิตจะดูแลในเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าต่อไป