ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เปิดมุมมองผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ “30 บาทรักษาทุกที่”  ข้ามทุกเครือข่ายด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พบประชาชนพอใจ ส่วนลด “การรอคิว -ภาระงาน” ได้มากน้อยแค่ไหน ยังต้องมอนิเตอร์เป็นตัวเลขให้ชัดเจน เพราะเริ่มไม่ถึง 2 สัปดาห์  ขณะที่ คลินิก ร้านยา เอกชน ยังกังวลงบประมาณไม่ตอบโจทย์ความคุ้มทุน

 

เสียงประชาชนผู้รับบริการพอใจ ‘บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่’

“ตอนแรกกังวลว่าอาจใช้ไม่ได้จริง แต่เจ้าหน้าที่บริการดี ให้คำแนะนำว่าใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ บอกขั้นตอนต่างๆ และให้มารอหมอตรวจ อย่างวันนี้ก็ต้องมารอหมออยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้นานหลายชั่วโมงเหมือนเดิมที่มีคนไข้เยอะๆ แออัดไปหมด” 

คำบอกเล่าของ นางละมัย พูลเกตุ อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้าง  ชาวอำเภอบ้านลาด จ.เพชรบุรี  ผู้มีสิทธิบัตรทอง  เล่าถึงการรับบริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียวครั้งแรก ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเจ็บป่วยส่วนใหญ่ก็ไปอยาตามร้านยาเอง เพราะตามสิทธิต้องไปรักษารพ.บ้านลาด ซึ่งค่อนข้างไกลจากบ้าน หากเทียบกับการมารักษาที่รพ.พระจอมเกล้า ประกอบกับวันนี้ตนมาตลาด และรู้สึกปวดเข่ามาก  เดินไม่ค่อยไหว จึงเข้ารับรักษาที่รพ.พระจอมเกล้า เพราะอยู่ใกล้ๆ และรู้จากข่าวว่า มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ใช้แค่บัตรประชาชน ก็ลองดูว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ปรากฎว่าใช้ได้ ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้ดีมาก คนไข้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกลๆ

            ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง..   ยังใช้ได้ในสิทธิประกันสังคม เนื่องจากความพิเศษของพื้นที่ เอื้อให้ผู้ป่วยประกันตนที่อยู่ในสิทธิของ รพ.พระจอมเกล้า สามารถรักษาได้ทุกที่ในเครือข่าย อย่างรพ.ชะอำ เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ระบบไอทีเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด  นายอานนท์ แสงสวาท อายุ 42 ปี จ.ชัยภูมิ ทำงานทางรถไฟจ.เพชรบุรี  เล่าว่า ตนเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ แต่มาทำงานก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จริงๆตามสิทธิประกันสังคมต้องรักษาที่รพ.พระจอมเกล้า แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุใกล้ๆ รพ.ชะอำ จึงเข้ารับการรักษาที่นี่ 

“อยากให้รัฐบาลขยายโครงการนี้ไปให้ผู้ประกันตนบ้าง เพราะผมทำงานรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งหากจบไซด์งานนี้ ก็ต้องไปทำงานจังหวัดอื่นๆ หากได้รับสิทธิรักษาที่ไหนก็ได้ด้วยก็จะดีมาก” นายอานนท์กล่าว

              ตัวอย่างเสียงของประชาชนที่มารับบริการ รพ.พระจอมเกล้า และรพ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ต่อนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ของรัฐบาล  เจ้าภาพหลักคือ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนนำร่อง 4 จังหวัด มีเพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567  ซึ่งผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 12-13 มกราคมที่ผ่านมา นำโดย นพ.ชลน่าน และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เพื่อติดตามผลการดำเนินการว่า มีปัญหาอุปสรรค หรือได้รับการตอบรับจากประชาชนแค่ไหน...

            แน่นอน เพียงเวลาไม่กี่วัน คงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จในแง่ลดการรอคิวของผู้ป่วยได้มากกี่เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนคือ ความพอใจของประชาชนที่ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่ไหนก็ได้ ที่สำคัญ รมว.สาธารณสุข พอใจแน่นอน เพราะจากการให้สัมภาษณ์ นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า   ในมุมคนกำกับนโยบายให้คะแนนเกิน 80 คะแนน หลังคิกออฟแล้วยังไม่มีเสียงว่าไม่พอใจ แต่อาจมีปัญหาเล็กน้อย เช่น ผู้มารับบริการยังไม่ได้แสดงตัวตน หรือลงทะเบียน Health ID  เป็นคอขวดทำให้ช้า 20% แต่ล่าสุดมีการปรับระบบสามารถยืนยันตัวตนผ่านตู้ Kiosk ได้ และยังเพิ่มจำนวนตู้ให้เพียงพออีกด้วย

เปิดโครงการไม่กี่วันมีผู้ป่วยข้ามเขตใช้สิทธิโครงการ 4-5%

             ขณะที่มุมของหน่วยบริการ โดย นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผอ.รพ.พระจอมเกล้า และ  นพ.ประกาศิต ชมชื่น ผอ.รพ.ชะอำ  นำเสนอข้อมูลตรงกันว่า จากนโยบายดังกล่าว มีประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นราว 4-5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนนอกพื้นที่เพชรบุรี ส่วนหนึ่งมีภูมิลำเนาที่อื่นแต่มาทำงานในจังหวัด เมื่อเจ็บป่วยจึงได้โอกาสเข้ารับการรักษาใกล้ๆ ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 4-5% ถือเป็นตัวเลขไม่มาก สำหรับหน่วยบริการมีการบริหารจัดการที่รับได้ แต่ได้เตรียมกำลังคนเพื่อรองรับหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน ตัวเลขอาจยังไม่สะท้อนทั้งหมด

             นพ.อมรเทพ บุตรกตัญญู รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จ.เพชรบุรี มี 8 อำเภอ และมีประชากรรวม 432,883 คน    ซึ่งหน่วยบริการสาธารณสุขในจังหวัด มี 133 แห่ง เป็นรพ.สังกัดสป.สธ. 8 แห่ง รพ.สังกัดกองทัพบก 1 แห่ง รพ.เอกชน 2 แห่ง รพ.สต. 117 แห่งรวมที่ถ่ายโอนไปแล้ว 5 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 5 แห่ง นอกจากนี้ มีคลินิก 204 แห่ง ร้านขายยา 103 แห่ง และคลินิกแล็บอีก 7 แห่งในการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่  โดยเริ่มแรกทุกฝ่ายช่วยกันสื่อสารนโยบายนี้ไปยังประชาชน   ซึ่งนาทีนี้แทบไม่มีคนเพชรบุรีคนไหน ไม่รู้เรื่อง เราสามารถสื่อสารทั้งเชิงรุกเชิงรับ 100%

ดิจิทัล เฮลธ์ เชื่อมข้อมูลหลังบ้านยืนยันสิทธิผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

          วัตถุประสงค์หลักของ “30 บาทรักษาทุกที่” คือ การอำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงบริการมากที่สุด เรียกว่า เป็น Big Data ข้อมูลคนไข้เพื่อให้สามารถทราบประวัติการรักษา แม้ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม สิ่งสำคัญของการใช้ระบบจะต้องผ่านการยินยอม ยืนยันสิทธิ์และแจ้งปิดสิทธิ์หลังการใช้แล้ว โดยหลักๆ จะมีการยืนยันข้อมูล 2 ส่วน คือ ประชาชน ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชฯ และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

ต้องขึ้นทะเบียน Health ID  และ Provider ID

          นพ.อมรเทพ  อธิบายว่า ประชาชนต้องยืนยันตัวตนผ่าน  Health ID  โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันตัวตนไปแล้วเกิน 51% ของคนเพชรบุรี ตรงนี้ไม่ต้องกังวล เนื่องจากคนมารับบริการเป็นประชากร 20-30%ของคนเพชรบุรี หมายความว่า คนไข้ประจำของจังหวัดได้ถูกลงทะเบียนตามรพ.ที่ไปรักษาอยู่แล้วก่อนหน้านี้ 3 เดือน ส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่ลงทะเบียน จะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมาใช้บริการมากนัก  

          ส่วนผู้ให้บริการจะต้องทำ  Provider ID ลงทะเบียนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและสาขาวิชาชีพต่างๆ เบื้องต้นลงทะเบียน 4 สาขาหลักไปแล้วถึง 87.04%   การลงทะเบียนดังกล่าวจะทำให้ตรวจสอบได้หมด ว่า แพทย์หรือวิชาชีพใดเข้าระบบคนไข้ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลคนไข้จำเป็นต้องได้รับอนุญาต และคนไข้จะต้องมีการปิดสิทธิ์หลังใช้ทุกครั้ง และสธ.ยังมีระบบ cyber security ป้องกันข้อมูลอีกหลายชั้น

         นอกจากนี้ ยังจัดทำระบบให้หน่วยบริการสามารถจองคิวให้ผู้ป่วย เช่น รพ.ชุมชน(รพช.) ต้องส่งคนไข้มายังรพ.พระจอมเกล้า ก็จะมีระบบให้ตรวจสอบว่าเหลือคิวว่างวันไหน มีกี่คิว ทำคล้ายๆ จองตั๋วหนัง ซึ่งเบื้องต้นเราทำเฉพาะหน่วยบริการก่อน จากนั้นหากระบบคงที่จะขยายไปยังประชาชนจะได้เห็นภาพชัดขึ้น

แม้รพ.สต.ถ่ายโอนไปท้องถิ่น ไม่มีปัญหา ยังทำงานร่วมกันเพื่อปชช.

           แม้การบริการประชาชนในส่วนรพ.จังหวัด จะมีระบบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยแบบใกล้บ้าน ยังเป็นสิ่งจำเป็น นพ.อมรเทพ กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิสำคัญมาก อย่างการเชื่อมข้อมูลเพื่อให้เป็นไปตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ต้องให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการบริการใกล้บ้าน อยู่ที่ไหนรักษาที่นั่นได้ ไม่ต้องเดินทางมาถึงรพ.พระจอมเกล้า ยิ่งอาการเจ็บป่วยไม่มาก ยิ่งไม่ควรต้องเดินทางไกลๆ

“ที่ผ่านมา รพ.สต.จะช่วยเรื่องการดูแลปฐมภูมิมาก  แม้ปัจจุบันมีเรื่องการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น แต่เพชรบุรี ยังถ่ายโอนไม่มาก เพียง 5 แห่ง ที่สำคัญยังทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี มีความผูกพันกับสธ.สูง เราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ยึดผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง อย่างหมอ รพ.พระจอมเกล้า ยังนั่งอยู่รพ.สต.ที่ถ่ายโอน เป็นการช่วยราชการระหว่างรอท้องถิ่นจัดหาแพทย์ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องนี้” นพ.อมรเทพ กล่าว

นพ.อมรเทพ บุตรกตัญญู

ระบบเบิกจ่ายครอบคลุมแค่ไหน..

            ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 8-10 ม.ค. 2567 พบว่า ในภาพรวมทั้งจังหวัดเพชรบุรี มีประชาชนเข้ารับบริการประเภทผู้ป่วยนอก รวมทั้งสิ้น จำนวน 13,202 ครั้ง  ซึ่งเป็นการเข้ารับบริการต่างหน่วยบริการประจำภายในจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 728 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 5.51 ของบริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 638,860.73 บาท และเป็นการเข้ารับบริการต่างหน่วยบริการประจำจากภายนอกจังหวัด  จำนวน 254 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 1.92 ของบริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 180,739.53 บาท

            ในส่วนของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า  พบว่า  มีประชาชนเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,982 ครั้ง เป็นการเข้ารับบริการต่างหน่วยบริการประจำภายในจังหวัด  326 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 5.45 ของบริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 321,404.00 บาท และเป็นการเข้ารับบริการต่างหน่วยบริการประจำจากภายนอกจังหวัด  จำนวน 41 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 0.69 ของบริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 33,063.00 บาท

            จึงเกิดคำถามว่า การเบิกจ่ายเงินตามโครงการดังกล่าว มีกันเงินเฉพาะ  30 บาทรักษาทุกที่กว่า  300 ล้านบาทสำหรับ 4 จังหวัดนำร่อง (เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด นราธิวาส)  งบในส่วนนี้ของจ.เพชรบุรีเพียงพอหรือไม่  เพราะจากข้อมูลคนไข้เข้ามาจะเป็นนอกพื้นที่เพชรบุรี แสดงว่า ข้ามเขต ข้ามจังหวัดนำร่อง

           นพ.จิรายุ  เล็กพิทยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.พระจอมเกล้า อธิบายว่า ในเรื่องงบประมาณจะเป็นส่วนของ สปสช. ซึ่งจ่ายในรูปแบบ OP Anywhere  หากเจ็บป่วยแล้วมารักษาจะตามจ่ายให้หน่วยบริการทุกครั้ง

          ส่วนการจ่ายให้เอกชน หรือคลินิก ร้านยา บางแห่งมองว่า งบน้อยไป ในส่วนของเพชรบุรีเมื่อเจอปัญหาดังกล่าว จะทำอย่างไร เรื่องนี้  นพ.อมรเทพ กล่าวเสริมว่า  อย่างที่จ.เพชรบุรี มีรพ.เอกชน 2 แห่ง ซึ่งมีคำถามเรื่องงบประมาณที่จะได้รับจากสปสช. เนื่องจากจะมีเรื่องความคุ้มทุนด้วย  ตรงนี้จะเป็นส่วนสปสช. แต่ส่วนของ รพ.สังกัดสธ.นั้น เราพูดถึงประเด็นข้อมูลก่อน เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้ จึงได้หารือร่วมกับ รพ.เอกชน 2 แห่งดังกล่าว โดยยังไม่พูดถึงประเด็นงบประมาณ และจากการหารือตกลงกันว่า  จะไม่มีการลิงค์ข้อมูล หรือแตะข้อมูลหลังบ้านของเขา แต่จะใช้ “หมอพร้อม สเตชั่น” เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลคนไข้ โดยรพ.เอกชนแทบไม่ต้องถามประวัติคนไข้  สามารถรักษาต่อเนื่องได้   

         ขณะที่  นพ.จิรายุ  ย้ำว่า  หลักการสำคัญของ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นการอำนวยความสะดวกก็จริง แต่เน้นว่า การไปได้ทุกที่ คือ ไปในที่ที่จำเป็นต้องไป  เพราะหากเจ็บป่วยเล็กน้อย มองว่าประชาชนไม่ได้อยากเดินทางไกลๆมารับบริการ ในเมื่อเรามีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิตลอด ส่วนคนที่จำเป็นมารับบริการที่รพ.พระจอมเกล้า จากนี้ก็ไม่ต้องรอคิวนานๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการรอรับยา อย่าง  เมื่อหมอตรวจรักษาแล้ว  สามารถเลือกรับยาที่บ้านด้วยการใช้บริการของ Health Rider แต่หากไกลเกินรัศมีกำหนด ก็เลือกจัดส่งยาผ่านไปรษณีย์  

         “ที่สำคัญเภสัชกรจะมีการใช้ระบบเทเลเมดิซีน เพื่อแนะนำคนไข้ผ่านระบบว่า ต้องใช้ยาอย่างไรบ้าง และหากคนไข้ไม่สะดวกรับยาที่บ้าน ก็จะมีระบบให้แพทย์เขียนใบสั่งยาผ่าน “หมอพร้อม สเตชั่น” ส่งไปร้านยาใกล้บ้าน สามารถไปรับยาได้เมื่อสะดวก  นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้ระบบเทเลเมดิซีน ติดตามการรักษา รวมไปถึงการสั่งเจาะเลือด แพทย์จะส่งข้อมูลไปยังร้านแล็บใกล้บ้าน คนไข้ก็ไปเจาะเลือดใกล้บ้านได้ นอกจากนี้ การนัดหมอ การแจ้งเตือน  หรือเลื่อนนัดก็สามารถทำผ่านหมอพร้อมทั้งหมด” นพ.จิรายุ กล่าว

ลดภาระงานห้องบัตร แต่ต้องขอเวลามอนิเตอร์ข้อมูลภาพรวม เหตุเพิ่งเริ่มโครงการ

          ส่วนประเด็นลดภาระงานบุคลากรนั้น หากพิจารณาในส่วนห้องบัตร ยังต้องมีอยู่บ้าง เพราะบัตรประชาชนบางครั้งที่อยู่ไม่ตรงกับบัตร เราก็ต้องมีการสอบถามเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องกังวล ขณะนี้กำลังจะทำระบบบัตรคนไข้ออนไลน์ เพื่อให้ง่ายสะดวกขึ้นอีกทางหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จึงยังต้องมีห้องบัตรเช่นกัน แต่ภาระงานส่วนนี้ลดลง ซึ่งหากภาพรวมยังไม่สามารถประเมินได้ว่าลดภาระงานได้เท่าไหร่ เพราะเพิ่งเริ่มโครงการ แต่มีระบบมอนิเตอร์ทั้งเรื่องการใช้บริการ การให้บริการ การลดภาระงาน เป็นต้น

          “การจัดบริการดังกล่าวไม่เพียงแต่บัตรทอง แต่ยังรวมถึงการให้บริการสิทธิประกันสังคมด้วย แต่มีเงื่อนไขว่า เป็นผู้ประกันตนของรพ.พระจอมเกล้า เนื่องจากเป็นรพ.รับสิทธิประกันสังคม จึงมีการทำระบบมารองรับอำนวยความสะดวกอีกทาง อย่างไรก็ตาม เรายังมีทีม CareD+ ในการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ รวมถึงยังเปิด Line OA ของจังหวัด และคอลเซ็นเตอร์ สสจ.เพชรบุรี 0-3240-0099 เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง” นพ.จิรายุ กล่าว

ในส่วนของรพ.ชะอำ นพ.ประกาศิต ชมชื่น ผอ.รพ.ฯ กล่าวถึงการลดภาระงาน ว่า ภาระงานที่ลดเยอะ คือ การจัดส่งยา เพราะคนไข้ไม่ต้องรอรับที่ห้องยา ระยะเวลารอคอยก็ไม่มี ก็ไปรอที่บ้าน เป็นการลดเวลารอคอยคนไข้  ส่วนอื่นก็จะค่อยๆ ปรับไปเพราะเพิ่งเริ่ม ส่วนอนาคตห้องบัตรหรืออะไรที่เป็นเอกสารก็จะน้อยลง  ที่ชัดเจนคือ เมื่อก่อนคนไข้มารักษา รพ.ชะอำ อาจใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก็เหลือ 1-2 ชั่วโมง เพื่อกลับได้ช่วงเช้าไม่ต้องถึงบ่าย

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สรุปประเด็นสำคัญจากการลงพื้นที่ว่า

1.ประชาชนพึงพอใจในการรับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะอยู่ใกล้ที่ไหนเข้ารักษาที่นั่น

2.อุปสรรคยังมีในเรื่องการยืนยันตัวตนของประชาชนที่เรียกว่า Health ID  บางคนยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอพร้อม ทำให้ต้องใช้เวลาในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ตรงจุดนี้ รพ.พระจอมเกล้าได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด คอยให้คำแนะนำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน และจัดตู้ Kiosk ไว้บริการเพิ่ม ขณะที่รมว.ชลน่าน สั่งการทุกรพ.เตรียมพร้อมระบบมากขึ้น

3.เรื่องจัดทำแพลตฟอร์มเดียวกันทั้งจ.เพชรบุรี ในส่วนของเอกชน ร้านยา กำลังดำเนินการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ยังมีปัญหาความสับสนในเรื่องการปิดสิทธิ์บริการและการส่งข้อมูลประกอบการขอส่งเบิกเงินชดเชยค่าบริการ ที่พบว่าหลายหน่วยบริการยังไม่เข้าใจรูปแบบและวิธีการ ทำให้ข้อมูลที่ส่งเบิกจำนวนหนึ่ง  ซึ่งเรื่องนี้หน่วยบริการและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประชุมหารือร่วมกันภายในจังหวัด ซึ่งได้ตั้ง   War room ของเพชรบุรี เพื่อประชุมทางไกลกับผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือทุกวันจันทร์ และวันศุกร์  

4.สำหรับงบประมาณที่เอกชน ร้านยา คลินิก แล็บมองว่า จำนวนงบประมาณที่สปสช.จัดสรรอาจไม่คุ้มทุนนั้น ส่วนนี้ต้องรอทางสปสช.กรณีเพิ่มงบฯหรือจัดสรรงบประมาณอย่างไรต่อไป ล่าสุดสปสช.เตรียมประชุมหารือเรื่องนี้แล้ว

ทั้งหมดยังต้องติดตามต่อไปอีกสักระยะว่า โครงการประสบความสำเร็จ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ...

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” สั่ง สปสช.หารือปมจ่ายเงินคลินิก ‘30 บาทรักษาทุกที่’ จัดงบ 800 ล้านรับเฟส 2