ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข สั่งการสปสช.หารือคลินิก ร้านยา กรณีเงินเบิกจ่ายโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เฟส 2  เตรียมงบกลาง 800 ล้านรองรับ 8 จังหวัดแล้ว

ตามที่มีการเดินหน้าโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ข้ามทุกเครือข่าย นำร่อง 4 จังหวัด คือ เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งมีภาคเอกชน คลินิก บางแห่งที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการมองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเพิ่มงบฯส่วนนี้  เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะรัฐบาลเตรียมสานต่อในเฟส 2 ช่วงเดือนมีนาคม 2567 อีก  8 จังหวัด  ได้แก่  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า กรณีการจ่ายเงินให้กับทางหน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่นั้น จะแบ่งออกเป็นกรณี ร้านยา ร้านแล็บต่างๆ  จะจ่ายตามรายการจ่ายจริง หรือที่เรียกว่า  Fee schedule  กลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเพียงแต่กำหนดว่า อย่างร้านแล็บจะมีมาตรฐาน 22 รายการต้องเป็นไปตามนี้ ถึงจะเบิกจ่ายได้ ร้านยาก็จ่ายแบบ Fee schedule   เช่นกัน  ส่วนคลินิกต่างๆ ขณะนี้กำลังหาวิธีการที่เหมาะที่สุด เบื้องต้นใช้กลไกการจ่ายแบบต่อครั้ง เรียกว่า Per visit  หากมีการตรวจรักษาและมียาก็จะอยู่ที่ 320 บาท แต่หากไปตรวจรักษาโดยไม่มีการจ่ายยาคนไข้ คิดค่าแพทย์ 100 บาท

“อัตราดังกล่าวก็มีข้อเสนอจากผู้ให้บริการเหมือนกันว่าสอดคล้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะการรักษาบางอย่างไม่เหมือนกัน ในแต่ละโรคไม่เหมือนกัน  เรื่องนี้ทางเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็รับไปพิจารณา เพราะถ้าโรคทั่วไปที่ไม่ต้องทำหัตถการพิเศษ คลินิกส่วนใหญ่บอกว่าเก็บประมาณ 300 บาท แต่รายละเอียดก็ต้องไปพิจารณาร่วมกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่กรณีหากคลินิกต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และรัฐบาลเตรียมขยายเฟสสองในเดือนมีนาคม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะจากประสบการณ์จากเฟสแรก ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาใน 4 จังหวัด เราสามารถนำมาปรับให้สอดคล้องกับการจะขยายในเฟสสองได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า  ท่านชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสธ.ได้สั่งการให้สปสช.หารือเกี่ยวกับประเด็นการเบิกจ่ายอีกครั้ง ว่า มีอุปสรรคอะไร เพื่อหาทางปรับให้สอดคล้อง และเตรียมพร้อมรองรับการขยายโครงการเฟส 2 ไปอีก 8 จังหวัดช่วงเดือนมีนาคมนี้  ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ทางสปสช.เตรียมพร้อมการเรื่องงบประมาณแล้ว เนื่องจากท่านรมว.สาธารณสุข ได้สั่งการตลอดเกี่ยวกับงบประมาณให้เติมเข้าระบบในการรองรับให้บริการประชาชน โดยไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณเป็นอุปสรรค โดยในเฟสสองได้มีการของบกลางรองรับแล้ว 800 ล้านบาท สำหรับ 8 จังหวัด ได้แก่  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบายดังกล่วที่ได้มีการนำร่อง 4 จังหวัดนั้น สปสช.ได้เก็บข้อมูลการจ่ายชดเชยตามนโยบายระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2567  รวมทั้งหมด 3,161,685 บาท ในจำนวนนี้เป็นการโอนจ่ายให้กับหน่วยบริการเอกชนจำนวน 873,505 บาท