ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โลหิตจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดง หรือปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดน้อยกว่าปกติ โดยปกติเม็ดเลือดแดง   ในร่างกายของคนเราจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 120 วัน และจะถูกทำลายที่ม้าม ซึ่งการสร้างและการทำลายเม็ดเลือดแดงจะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่หากเสียสมดุลดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางในผู้บริจาคโลหิต ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุสำคัญของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมี 3 ประการ ดังนี้

1.  ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ซึ่งแบ่งสาเหตุได้ 2 ชนิด คือ 
    - ได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไป เช่น รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย หรือไม่รับประทานธาตุเหล็กเสริมหลังบริจาคโลหิต
    - มีความผิดปกติในกระบวนการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร หรือแคลเซียม

2. ผู้บริจาคโลหิตที่สูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ ซึ่งแบ่งสาเหตุได้ 2 ชนิด คือ
    - การเสียธาตุเหล็กฉับพลันจำนวนมาก เช่น ผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร แท้งบุตร ได้รับอุบัติเหตุ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ 
    - การบริจาคโลหิตต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับประทานธาตุเหล็กทดแทนอย่างเพียงพอ

3. ผู้บริจาคโลหิตที่มีความผิดปกติในกระบวนการสร้างเม็ดเลือด ผู้ป่วยทางโลหิตวิทยา เช่น โรคโลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น สาเหตุของภาวะโลหิตจางสำหรับผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ และมีการสูญเสียธาตุเหล็กจากการบริจาคโลหิตต่อเนื่อง โดยไม่รับประทานธาตุเหล็กทดแทน เป็นสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้เบื้องต้น ทั้งนี้ ผู้บริจาคโลหิตเองอาจไม่ทราบ หรือไม่รู้ตัว การเฝ้าระวัง หรือสังเกตตนเอง

จึงเป็นสิ่งจำเป็นทุกครั้งที่มีการบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็กหลังการบริจาค ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง รวมถึง เรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีธาตเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และไข่ โดยทานร่วมกับอาหาร   ที่มีวิตามินสูงในมื้อเดียวกัน เพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น 

สำหรับผู้บริจาคโลหิตที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการทานยาธาตุเหล็ก ได้แก่ อาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หรือท้องผูก อาจลองรับประทานธาตุเหล็กพร้อมหรือหลังมื้ออาหารทันที

ทั้งนี้ จึงขอให้ผู้บริจาคโลหิตที่มีความประสงค์บริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ทานธาตุเหล็กทดแทนทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริจาคมีโลหิตที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่อง และได้บริจาคโลหิตเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยสมความตั้งใจ