ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ขับเคลื่อน ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน( FDH)  รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หวังใช้ระบบขยายทั่วประเทศ -ทุกกองทุนในปี 67 เผย รพ.สังกัด สป.สธ.ใช้ระบบครบ 100% แล้ว จ่อขยาย รพ.กรมอื่นๆ ใน เม.ย.  ย้ำ! ระบบนี้ไม่ได้ปูทางรวม 3 กองทุน ขออย่าปล่อยข่าวทำสังคมแตกแยก แค่รวมฐานข้อมูล ทุกกองทุนยังบริหารกันเอง

 

เมื่อวันที่ 8  มีนาคม ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ใช้งานระบบ MOPH Financial Data Hub เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" พร้อมมอบนโยบายเรื่องการบริการและเชื่อมโยงข้อมูลตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุข ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน หรือ FDH คือ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (MOPH Financial Data Hub) หรือ “FDH” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ระหว่างหน่วยบริการและกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มให้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 902 แห่ง ทดลองส่งข้อมูล พบว่า สามารถส่งข้อมูลมายัง FDH ได้ครบทุกแห่งในระยะเวลาเพียง 38 วัน ดังนั้น สธ.จึงร่วมกับ สปสช. เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพ สำหรับหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส รวม 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่เริ่มดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จนถึงขณะนี้มียอดเรียกเก็บมากกว่า 5 แสนราย เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท โดย สปสช.เร่งดำเนินการให้มีการอนุมัติมากกว่า 8 หมื่นราย โอนเงินสำเร็จกว่า 3 หมื่นราย มีเงินชดเชยพึงรับเกือบ 5 ล้านบาท

FDH สู่การเชื่อมโยงข้อมูลเบิกจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ

"ต้องขอบคุณความร่วมมือจาก สปสช. และหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ที่ร่วมดำเนินการจนทำให้เห็นข้อมูลเป็นปัจจุบันผ่าน Dashboard จากนี้เป็นต้นไป FDH จะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในหน่วยบริการ 8 จังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่สอง และเชื่อมโยงทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเกือบ 47 ล้านคน คิดเป็น 70% ของสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนไทย และระยะถัดไปจะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายไปยังกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยการพิจารณาเงื่อนไขการเบิกจ่ายจะเป็นอำนาจของแต่ละกองทุน" นพ.ชลน่านกล่าว

หน่วยบริการสังกัด สป.สธ.พัฒนาระบบเกือบ 100% ทำเบิกจ่ายรวดเร็วขึ้น

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ทั้ง 902 แห่ง ทำครบ 100% แล้ว วันนี้เรามาพัฒนาผู้ใช้งานในเชิงระบบการใช้งาน ที่เหลืออีก 993 แห่ง ที่เป็น รพ.ในสังกัดอื่นของ สธ. เช่น กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต เป็นต้น ก็จะขยายไปให้ครอบคลุม ถ้าเราเชื่อมระบบตรงนี้ได้ทั้งหมดก็น่าจะเริ่มได้ที่ เม.ย.เป็นต้นไป ทั้งนี้ การเชื่อมข้อมูลการเบิกจ่ายกับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นการนำร่องเพื่อให้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นเข้ามาร่วมดำเนินการกับ สธ.โดยสมัครใจ เพราะไม่ได้เป็นการเข้าไปข้องเกี่ยวกับระบบภายในของแต่ละกองทุน โดยระบบ FDH จะทำหน้าที่เสมือนเป็นเคลียริงเฮาส์ ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการเบิกจ่ายและการดูแลข้อมูล เพราะเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมทุกกองทุน และแสดงตัวเลขแบบเรียลไทม์

ระบบดังกล่าวทำให้เบิกจ่ายสะดวกรวดเร็ว ถือเป็นการพัฒนาเชิงระบบ ช่วยลดภาระงานในการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน เตรียมข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ของทุกกองทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยบริการ อีกทั้ง ยังวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมแสดงข้อมูลในรูปแบบ Business Intelligence สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางนโยบายด้านสาธารณสุขได้ชัดเจนและตรงตามเป้าหมาย ช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อน ลดความผิดพลาด ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ระบบ MOPH FDH รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบ MOPH FDH ทั้งแนวทางการให้บริการและส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการขอรับค่าใช้จ่าย และการตรวจสอบการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินงานของ 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ ให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่าย สะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และสิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกพื้นที่ โดยมีผู้บริหาร สธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บุคลากรผู้รับผิดชอบงานใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง โรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ และ กทม. เข้าร่วมประชุมรวม 440 คน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในส่วนของการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สปสช. จะเป็นการร่วมกันพัฒนาและออกแบบระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุข กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่าย พัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานระบบ และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่มาจากทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน MOPH FDH ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

 

ถามว่าเมื่ออนาคตผลักดันให้ MOPH FDH ทำหน้าที่เหมือนเคลียริงเฮาส์ส่งข้อมูลเบิกจ่ายทุกกองทุน ในส่วนของสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่ สปสช.เป็นเคลียริงเฮาส์เดิมจะต้องปรับมาใช้ระบบนี้ด้วยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิทธิ UCEP จะได้รับการดูแลค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ก่อน คือ จ่ายแทนให้ทุกสิทธิ แล้ว สปสช.ไปเรียกเก็บกองทุนต่างๆ ตามสิทธิประโยชน์ เป็นระบบปกติแมนวล ต่อมาเราพัฒนา E-Claim ก็ยังใช้ลักษณะของการส่งต่อข้อมูลแบบแมนวลอยู่ พอมีการยกระดับ 30 บาทฯ เทคโนโลยีถึง เราพัฒนาระบบเปิดหน้าบ้านใช้หมอพร้อมกับไลน์ OA สื่อสารประชาชน คนมาใช้บริการจะถูกบันทึกข้อมูลประวัติสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (PHR) ที่มารับการดูแล พอมีตรงนี้จะเป็นการสะดวก ถ้าเราพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลการเงินด้วยที่มีอยู่แล้ว ก็จะสะดวกในส่งเบิกเงินแต่ละกองทุน เป็นการชดเชยการใช้ระบบแมนวลจาก UCEP มาไม่ใช่ UCEP แล้ว ทุกโรคได้เลย UCEP ก็ได้ด้วย เป็นหลักที่เราทำอยู่แล้ว

 

ถามย้ำว่า สปสช.ไม่ต้องจ่ายก่อนแล้วไปเคลียริงที่หลังแล้วใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่จำเป็นแล้ว เพราะ FDH ยิงไปที่ฐานกองทุนได้เลย ไม่จำเป็นต้องจ่ายก่อน นี่คือข้อดีของ UCEP

สำนักงานดิจิทัลสุขภาพ ดูแลระบบ MOPH FDH

เมื่อถามว่า MOPH FDH จะให้กองเศรษฐกิจสุขภาพดูแลในระยะยาวเลยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำนักงานดิจิทัลสุขภาพ เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ดูเรื่องโครงสร้างทั้งหมด หลังบ้าน หน้าบ้าน พัฒนาระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพจะดูมิติค่าใช้จ่าย สปสช.เป็นผู้จ่าย ซึ่งกองเศรษฐกิจสุขภาพก็จะดูแลเชิงระบบ เมื่อมี FDH ข้อมูลก็จะมาอยู่ตรงนี้ทั้งหมด สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแต่ละกองทุนมาปุ๊บ ก็จะถูกยิงเข้าไปในแต่ละกองทุน แทบไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เฝ้าดูว่ารายการที่ส่งมาเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่ต้องการข้อมูลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ข้อมูลการเงิน แต่เป็นข้อมูลการจัดบริการด้วย จะรู้ว่ามีกิจกรรมบริการอะไร เม็ดเงินที่ใช้เป็นอย่างไร เหมาะสมไม่เหมาะสมในแต่ละกองทุน

ไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแล

ถามย้ำว่าอนาคตที่จะมีการส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปทั้ง 3 กองทุน จะต้องมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะมาดูแลระบบตรงนี้หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ เพราะเป็นระบบดิจิทัลอยู่แล้ว แค่มอนิเตอร์ ปลายทางคือกองทุน จากระบบเดิมหน่วยบริการส่งไปกองทุน ถ้าวางแบบนั้นจะสับสนวุ่นวายไม่เป็นระบบ ถ้าเราวางท่อทุกสถานบริการรัฐ เอกชน ยิงเข้ามาตรงนี้ทั้งหมด ก็จะเป็นตัวยิงไปแต่ละกองทุนก็จะง่ายกว่า

 

ถามว่าจะเป็นเป้าของแฮกเกอร์หรือไม่ เพราะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถูกจุดเป็นเป้าอยู่แล้ว อยู่ที่ศักยภาพเราที่จะทำความปลอดภัยในเชิงระบบได้อย่างไร ไม่ได้เอาข้อมูลมาพูลใหญ่ เพราะอีกหน่อยจะมาในรูปของบล็อกเชน ก็ยิ่งไม่ต้องเก็บ แต่ตอนนี้เราใช้คลาวด์อยู่ในการรวมข้อมูล แต่ที่เรามั่นใจคือระบบความปลอดภัยที่วางไว้

อย่าปล่อยข่าวทำสังคมแตกแยก ระบบ FDH ไม่ได้รวม 3 กองทุน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการวางระบบแบบนี้เพื่อปูทางไปสู่การรวม 3 กองทุนสุขภาพ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราไม่ได้รวม อย่าไปปล่อยข่าวให้สังคมแตกแยก เราไม่ได้รวมเลย แต่ละกองทุนมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนเขา เราเองเพียงส่งข้อมูลให้คุณเท่านั้น อย่างที่บอกว่าถ้าหน่วยบริการยิงไปกองทุนก็สับสนวุ่นวายมาก แต่เรารวม FDH ให้เป็นระบบเข้ามาตรงนี้หมด อยู่ในท่อเดียวกัน แล้วท่อก็ยิงไปกองทุน การใช้ประโยชน์ข้อมูลในเชิงรวมมิติสุขภาพที่ สธ.เราคุมอยู่ก็จะเห็นเลย ใช้บริการของ สปสช.เท่าไร ประกันสังคม ข้าราชการเป็นอย่างไร แต่ละกองทุนก็เอาไปบริหารข้อมูลตัวเองได้ แล้วมาดูภาพรวมประเทศค่าใช้จ่ายสุขภาพเป็นอย่างนี้ มีจุดบิดเบี้ยวตรงไหน ก็ใช้ประโยชน์ได้ในการกำหนดนโยบาย กำหนดเม็ดเงินต่างๆ

 

ถามว่าตรงนี้อิงมาจากมาตรา 9 และ 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น นี่เป็นแค่การจัดการเรื่องช่องทางผ่านข้อมูล มาตรา 9 10 คือรวมกันมาร่วมบริการ ซึ่ง 20 ปีไม่เคยมาร่วมบริการกันได้เลย การดำเนินการตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินทุกคนมารวมกันแล้วร่วมบริการ แต่เราอาศัยระบบดิจิทัลทำให้ทุกคนหันหน้ามาหากัน มองข้อมูลของแต่ละกลุ่ม โดยตัวเองก็ถือกองทุนตัวเอง คือร่วมดำเนินการของฐานข้อมูลที่ออกจากระบบบริการ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง