ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ติดตามความก้าวหน้าสายงาน-วิชาชีพ ที่ล่าช้ากว่ากำหนด 2 เดือน พร้อมขอความชัดเจนบรรจุบุคลากรโควิดรอบ 2

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประเด็นการติดตามเรื่องการจัดคนลงในตำแหน่งนักสาธารณสุข และสิทธิความก้าวหน้าของวิชาชีพและสายงาน. ที่มีความล่าช้ากว่า timeline ที่ กองบค.สป.เคยแจ้ง ไป 2 เดือน โดยมีนายฉลองกรุง ภคกุล หัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ ใจความสำคัญหนังสือระบุว่า ด้วยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ให้กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นวิชาชีพเฉพาะ รวมทั้งตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ได้เห็นชอบสายงานนักสาธารณสุข ในโครงสร้างการบริหารส่วนภูมิภาค สป.สธ. และมีกรอบเวลาจากกองทรัพยากรบุคคลว่าจะมีหนังสือเวียนจาก สธ. การเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขให้หน่วยงานในสังกัดภายในเดือน ม.ค. 2567 นั้น

บัดนี้เข้าสู่เดือน มีนาคม 2567 แล้ว ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขจาก สธ. แต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการเปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เช่นกัน ซึ่งความล่าช้าและไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้กระทบสิทธิและความก้าวหน้าของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข และส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรต่อไป

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และเครือข่ายนักสาธารณสุข 4 ภาค จึงขอติดตามหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุข และความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ขอความชัดเจนกรอบเวลา (Timeline) ในการดำเนินการเปลี่ยนสายงานของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข และเร่งรัดหนังสือเวียนการเปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข ทั้งในสังกัด สธ. และ มท. โดยเร็ว เพื่อมิให้กระทบสิทธิและความก้าวหน้าของบุคลากร

ประเด็นที่  2 ขอให้เร่งรัดการออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง การปรับตำแหน่งและเกื้อกูลสายงานทั่วไป ในบุคลากรที่มีวุฒิปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เข้าสู่สายงานวิชาการในตำแหน่งนักสาธารณสุขทั้งสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงมหาดไทย

ประเด็นที่  3 ขอให้มีการปรับตำแหน่งและเกื้อกูลสายงาน นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ ในสังกัด มท. ที่มีใบประกอบวิชาชีพ สู่สายงานนักสาธารณสุข รวมทั้งขอให้พิจารณาแนวทางสำหรับผู้ทีเคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอื่น เช่น นักวิเคราะห์แผนและนโยบาย นักจัดการงานทั่วไป นักทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ในสังกัด สธ. และ มท. แต่ยังมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขด้วย

ประเด็นที่  4 ขอให้ดำเนินความก้าวหน้าของทุกสายงานอย่างเป็นธรรม ดังนี้ 1) ติดตามการดำเนินงาน ว.2 ชำนาญการพิเศษ สายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ 17 สายงาน ในสังกัด สธ. (เนื่องจากมีการเว้นวรรคมาหลายปี) 2) ขอให้พิจารณาขยายการจัดสรรตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ของสายงานนักวิชาการสาธารณสุข/นักสาธารณสุข ในสังกัด สธ. เช่นเดียวกับนโยบายการปรับตำแหน่งชำนาญการพิเศษหมื่นตำแหน่ง ของสายงานพยาบาลวิชาชีพ 3) ขอให้ สธ. พิจารณากรอบอัตรากำลังผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชำนาญการพิเศษ ใน รพ.สต. สังกัด สธ.ทุกแห่ง เช่นเดียวกับใน รพ.สต. สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ประเด็นที่ 5 ขอให้ สธ. ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ความก้าวหน้า ของบุคลากรสาธารณสุขทุกสายงาน ให้สามารถมีช่องทางความก้าวหน้าในการเติบโต เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของบุคลากรในกระทรวงอื่น โดยไม่มีข้อจำกัดด้านวิชาชีพ

ประเด็นที่ 6 ขอให้ดำเนินการ เร่งรัดให้สายงาน นักสาธารณสุข เป็นสายงานที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ทั้งในสังกัดสธ. และ มท.

ประเด็นที่ 7 ขอให้ปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง การบรรจุสายงานนักสาธารณสุข ในสังกัด สธ. เป็นสายงานสอบคัดเลือก แทนสายงานสอบแข่งขัน รวมทั้งขอความชัดเจนในการบรรจุบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด รอบ 2 ทั้งในสังกัด สธ. และ มท.

รวมทั้งขอความชัดเจนในการบรรจุ บุคลากรปฎิบัติงานโควิดรอบ 2 ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงใคร่ขอให้ท่านพิจารณา สั่งการ สธ. และ มท. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งแจ้งให้ ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ทราบต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง