ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.เผยผลสำเร็จ 5 ปี MOU “คนไทยไม่ไร้สิทธิ” สานพลัง กระทรวงยุติธรรม-ภาคีเครือข่าย ผลักดันคนไทยไร้สิทธิ เข้าสู่การตรวจพิสูจน์สิทธิ์ได้ 2,570 คน ตั้งเป้าปี 70 เปิดหน่วยเก็บ DNA ครบ 13 เขต สปสช. เสริมประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ     

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ณ ห้องประชุม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สถาบันเอเชียศึกษา และภาคีเครือข่าย มอบประกาศเกียรติคุณ และเกียรติบัตรองค์กรและบุคคลดีเด่น 20 โรงพยาบาล ที่จัดเก็บสารพันธุกรรม และสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิของคนไทยไร้สิทธิเป็นอย่างดียิ่ง ตามกรอบบันทึกความร่วมมือ (MOU) "การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน" 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สสส. สปสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ มพศ. 

พ.ต.อ ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาการไร้สิทธิ ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นเรื่องสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมจึงให้ความสำคัญ และมุ่งหวังให้มีความเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มคน โดยมีนโยบายขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรมไปสู่ยุค “ความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความยุติธรรมนำประเทศ” โดยมุ่งเน้นการนำความยุติธรรม เข้าหาประชาชน มิใช่ให้ประชาชนเป็นผู้ต้องเข้ามาหาความยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ ความถูกต้องและความยุติธรรมจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างถ้วนหน้า จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงยุติธรรม

“ในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาคนไทยไร้สิทธิสถานะ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือ สร้างการเข้าถึงบริการให้กับผู้ประสบปัญหา ผ่านเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้” พ.ต.อ ทวี กล่าว

ผลสำเร็จ 5 ปี MOU “คนไทยไม่ไร้สิทธิ” 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานตาม MOU การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของทั้ง 9 หน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีคนไทยไร้สิทธิและกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสุขภาพที่เหมาะสมแล้วถึง 2,570 คน เป็นกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ 1,340 คน 

นอกจากนี้ สสส. ยังบูรณาการร่วมกับกรมการปกครอง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สปสช. มพศ. กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) คืนสถานะกลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไทยตกหล่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อีก 1,230 คน อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนอีก 991,425 คน ซึ่งต้องเร่งผลักดันให้คนกลุ่มนี้ได้รับการพิสูจน์สิทธิสถานะ เพื่อเข้าถึงระบบระบบหลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการภาครัฐอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง

ร่นระยะเวลาพิสูจน์จาก 10 ปี เหลือ 3-12 เดือน 

“สสส. ร่วมดำเนินโครงการการพัฒนาเครือข่ายและกลไกระดับพื้นที่เพื่อสร้างการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ปี 2564 พัฒนาโรงพยาบาลให้บริการจัดเก็บ DNA ตรวจพิสูจน์สถานะ นำร่อง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ดำเนินการแล้วในโรงพยาบาล 20 แห่ง ใน 12 จังหวัด ช่วยร่นระยะเวลาพิสูจน์สิทธิให้เร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลาเป็น 10 ปี เหลือเพียง 3-12 เดือน เป้าหมายต่อไปคือเร่งดำเนินการขยายหน่วยเก็บ DNA ให้ครอบคลุมทั้ง 13 เขต สปสช. ปัจจุบันเปิดได้ 9 เขต คาดการณ์ว่าจะครบในปี 2570 จะช่วยเสริมประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยตกสำรวจก่อนมีบัตรประชาชน” นางภรณี กล่าว

ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ การดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุม และทั่วถึงรวมถึงคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ สปสช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการที่ยึดมั่นคือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ สปสช. ที่ได้ร่วมกับทาง กทม. สสส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่าย  สำหรับคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะนี้ กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน และคนไร้สิทธิ ซึ่งเป็นคนไทยตกหล่นด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ได้แจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย ทำให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยการมีหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจที่เข้มแข็ง จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเปราะบาง ได้พิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย และได้รับสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ รวมถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาท ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต ประธาน มพศ. และผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า มพศ. ทำหน้าที่เชื่อมเครือข่าย พัฒนาศักยภาพ และความรู้ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร การแยกประเภทกลุ่มคนที่มีปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้ชัดเจน เพื่อให้แกนนำเข้าใจได้ง่าย สนับสนุนการถอดบทเรียนและชุดความรู้ เป็นเครื่องมือตั้งต้นเมื่อต้องนำผู้ประสบปัญหาไปยื่นคำร้อง ณ ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นต่างๆ ช่วยลดข้อขัดแย้งในการพิสูจน์ตัวตน นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่ออุดช่องโหว่ด้านกฎหมาย ข้อระเบียบของ รพ. โดยคณะทำงานฯ ติดตามการทำงานให้กลุ่มผู้มีปัญหา สามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรประชาชนด้วยตนเอง และหาแนวทางรูปแบบการดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดรูปธรรมที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ เช่น อ.กาบเชิงโมเดล เป็นการทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้ง ประชาชน สำนักทะเบียน และโรงพยาบาล อย่างเป็นระบบ คืนสิทฺธิ สวัสดิการทางสังคม สุขภาพ การศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง