ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เม.ย. – มิ.ย.นี้ เริ่มเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบบัตรทอง ปี 67  9 ด้าน พร้อมเพิ่มประเด็น "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่" เน้นสร้างการมีส่วนร่วมผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการ-ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อขับเคลื่อน "กองทุนบัตรทอง"  

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านา ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบ “รูปแบบการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประจำปี 2567” นำเสนอโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปฯ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท เป็นกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่องตลอด 21 ปี ทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อดำเนินการระบบบัตรทอง นอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้ใช้สิทธิแล้ว ยังเป็นช่องทางของผู้ให้บริการได้ร่วมสะท้อนความเห็นการให้บริการที่นำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการและขับเคลื่อนระบบฯ ไปข้างหน้า จนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง 

สำหรับ ในปี 2567 นี้ตามแผนรูปแบบของการจัดประชุมรับฟังความเห็นฯ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เป็นไปตามข้อบังคับมาตรา 18 (10) จำนวน 9 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ด้านที่ 2 ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ด้านที่ 3 ด้านบริหารจัดการสำนักงาน ด้านที่ 4 ด้านบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านที่ 5 ด้านบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ด้านที่ 6 ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ด้านที่ 7 ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ด้านที่ 8 ประเด็นอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีประเด็นรับฟังความเห็นฯ ที่กำหนดประจำปี 2567 คือ เรื่อง“ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการรับฟังความเห็น ได้กำหนดการดำเนินการในแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เน้นการสื่อสาร 2 ทาง (Two Way Communication) ดำเนินการทั้งในระดับพื้นที่ คือ การจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ในพื้นที่ ดำเนินการโดย สปสช.เขต ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน –มิถุนายน 2567 และการจัดรับฟังความเห็นระดับประเทศ โดยจัดประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป ประจำปี 2567 และเปิดเวทีอภิปรายในวันที่ 27  –28 มิถุนายน 2567 โดยเบื้องต้นกำหนดเชิญรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานรับมอบสรุปผลรับฟังความเห็น เพื่อที่ สปสช. จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผลักดันข้อเสนอและความเห็นให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

 “กระบวนการจัดรับฟังความเห็นฯ สปสช. ได้มีการพัฒนามาโดยตลอดและมีการปฏิรูปการรับฟังความเห็น ภายใต้หลักการ 3 ข้อ คือ เน้นบูรณาการกับงานประจำตลอดทั้งปี เพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย จากเดิมที่มีแต่ Onsite ได้เพิ่มรูปแบบ Online และตอบสนองข้อเสนอระดับเขตอย่างรวดเร็วเป็นระบบ และในปี 2567 นี้ จากแผนรูปแบบฯ ที่นำเสนอนี้ เชื่อมั่นว่าจะนำมาสู่ความเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.จะรับดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว