ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก


"นิสิตแพทย์ มธ." เห็นด้วย หลัง สธ.ผลักดันโครงการผลิตผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ชี้ช่วยให้ ปชช.ประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมเข้าถึงการรักษาได้สะดวกมากขึ้น  

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 1,059 คน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 15 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เข้าร่วม โดยมีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพุทธโสธรได้รับเกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวในบางช่วงว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ห่างไกล กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 1-3 จะศึกษาในคณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม สธ.ส่งหมอรุ่นใหม่กว่า 1 พันคนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระจายส่วนภูมิภาค อีสานสูงสุด 

คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม สธ.ส่งหมอรุ่นใหม่กว่า 1 พันคนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระจายส่วนภูมิภาค อีสานสูงสุด

สำหรับภายหลังพิธีมอบสัมฤทธิบัตรและปัจฉิมนิเทศบัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 กระทรวงสาธารณสุข นส.ณัฎฐธิดา ผาเจริญ นักศึกษาแพทย์ มธ. ปี 6  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท รพ .พุทธโสธร เผยกับ สำนักข่าว Hfocus ว่า จริงๆ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นหมอ แต่มีช่วงชีวิตหนึ่งที่คุณตาป่วยแล้วรู้สึกว่าถ้าตอนนั้นตนสามารถช่วยดูแลคุณตาได้ ตนรู้ว่าคุณตาเป็นอะไร แล้วเข้าใจคุณตามากกว่านี้ในตอนนั้น ถ้าตนย้อนกลับไปรู้สึกว่าคงจะดีถ้าช่วยคุณตารักษาได้  ส่วนเรื่องภาระงาน ต้องกังวลอยู่แล้วเพราะตนก็เป็นมนุษย์เหมือนกันที่มีเวลาทั้งวันใน 24 ชั่วโมง แต่รู้สึกว่าการที่มีแพทย์ชนบทเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนในพื้นที่นั้นๆ ไปเรียนเรื่องการแพทย์ชนบทแล้วกลับมาช่วยเหลือคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการรักษามากยิ่งขึ้น

"เพราะโอกาสของคนเราไม่เท่ากันใช่ไหม บางคนเขาต้องใช้เงินต้องใช้คนต้องใช้เวลาในการที่จะไปหาหมอทั้งที่บ้านเขาห่างไกล แล้วอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวันนั้นในการประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพแต่ถ้าเราเข้าถึงเขามากขึ้น เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น" นส.ณัฎฐธิดา  นส.ณัฎฐธิดา กล่าว

ด้าน นายสาธิต บำรุงศิริ นักศึกษาแพทย์ มธ. ปี 6  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท รพ .พุทธโสธร เผยว่า "ตนแค่มองหาอาชีพที่มั่นคงในหน้าที่การงาน" รวมทั้งตนเองมีพี่ชายเป็นแพทย์ด้วยแล้วก็เหมือนได้เห็นการใช้ชีวิต เหมือนฟังเรื่องเล่าว่าพี่ชายรักษาคนไข้แล้วคนไข้รู้สึกตอบรับอย่างไร ยิ่งทำให้ตนรู้สึกอินในวิชาชีพนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้อนาคตได้วางแผนเรียนต่อด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เพราะว่าจะเน้นไปทางเยี่ยมบ้านดูแลรักษาเป็นองค์รวมมากกว่า

มองว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) มีความสำคัญตรงที่ได้ดูแลทั้งกายใจและจิตวิญญาณเข้าถึงผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเป็นเฉพาะทางด้านอื่น อย่าง สูติแพทย์ กุมารแพทย์ หรือ สัตวแพทย์ จะเน้นด้านตัวโรคมากกว่า อาจทำให้คนไข้ได้รับการดูแลไม่ครอบคลุม หมายถึงอาจจะดูแลได้แค่ตัวโรค แต่ว่าคนไข้ยังมีเรื่องของความกังวล กลับบ้านไปไม่มีคนดูแลต่อ ซึ่งเวชศาสตร์ครอบครัวจะมีบทบาทในตรงนี้มากขึ้น

"ส่วนในเรื่องภาระงานก็ต้องกังวลอยู่แล้ว เพราะเหมือนกับว่าเรารับผิดชอบชีวิตคนทั้งคน แล้วถ้าสมมุติว่างานมากไปเราก็อาจจะเหนื่อยกายด้วยแล้วก็อาจจะดูแลคนไข้ได้ไม่ดีมากพอ"นายสาธิต กล่าว

 

 

    

เรื่องที่เกี่ยวข้อง