ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ชลน่าน’ ยินดีหมอจบใหม่โครงการ “CPIRD”  ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 1,059 คน เตรียมกระจายส่งภูมิภาคกลับภูมิลำเนาให้บริการประชาชน อีสานสูงสุด ย้ำ! คนละส่วนกับมติ ครม.เห็นชอบผลิตหมอปฐมภูมิ ลั่น! แผนกำลังคนด้านสุขภาพภาพรวมทั้งประเทศใกล้เสร็จ! ควบคู่ขับเคลื่อนแผนบริหารกำลังคน แยกออกจาก ก.พ. ปี 68

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 1,059 คน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 15 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เข้าร่วม

ไทยยังมีปัญหากระจายตัวแพทย์ไม่สมดุล

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ห่างไกล กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท(CPIRD)  เพื่อช่วยเติมเต็มแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทให้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 1-3 จะศึกษาในคณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ศึกษาที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายหลังสำเร็จการศึกษา บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพื้นที่ภูมิลำเนา ในเขตบริการสุขภาพ 12 แห่ง อย่างน้อย 3 ปี หรือ 12 ปี

 

ปี 66 หมอจบ CPIRD  1,059 คน กระจายส่วนภูมิภาค อีสานมากสุด 398 คน

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน จะกระจายไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในส่วนภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 133 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  398 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคตะวันออก 79 คน ภาคตะวันตก 43 คน และภาคใต้ 218 คน โดยตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 23 รุ่น รวม 13,780 คน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เตรียมการผลิตแพทย์เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศในอนาคต โดยจะยกระดับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปใน 76 จังหวัด ให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการและแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา ครอบคลุมทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อผลิตแพทย์รองรับการขยายบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศด้วย

“โครงการนี้เป็นการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จะส่งไปตามภูมิลำเนาของแต่ละท่านที่คัดเลือกมา เป็นการกระจายโอกาสให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้ได้รับการดูแลมิติด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม” รมว.สาธารณสุข กล่าว

คนละส่วนกับครม.เห็นชอบผลิตหมอปฐมภูมิ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ครม.เห็นชอบผลิตแพทย์เพิ่มด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการ เนื่องจากครม.อนุมัติ เป็นโครงการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อไปปฏิบัติงานยังหน่วยบริการปฐมภูมิ โครงการนั้นจะเริ่มมี 2568 ส่วนโครงการนี้ ทางครม.มีมติตั้งแต่พ.ศ.2537 ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งเพิ่มจากที่มหาวิทยาลัย รพ.ต่างๆที่เกี่ยวข้องผลิตอยู่แล้วปีละกว่า 2 พันคน แต่โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทจะเพิ่มอีกประมาณ 1 พันคน โดยมีเงื่อนไขคัดเลือกมาจากพื้นที่ในแต่ละจังหวัด และให้มาฝึกอบรมที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ถูกคัดเลือกมา

แผนกำลังคนด้านสุขภาพคาดเสนอครม.ในปีนี้  

เมื่อถามถึงความคืบหน้าแผนกำลังคนด้านสุขภาพ  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีความคืบหน้าไปมาก โดยจะเป็นการจัดทำแผนกำลังคนด้านสุขภาพเชิงระบบทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเสนอแผนเข้าสู่ครม. ภายในปี 2567 ประกอบกับการขับเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการบุคลากร ที่เรียกว่า แยกออกมาเป็นของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรณีนี้อยู่ในขั้นตอนเช่นกันและจะแล้วเสร็จในปี 2568  

เมื่อถามว่าแผนกำลังคนด้านสุขภาพจะมีเรื่องความก้าวหน้า ภาระงาน ค่าตอบแทนทั้งหมดหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อคิดเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพจำเป็นต้องนำเรื่องพวกนี้มาคำนวณด้วย โดยจะใช้เป็นฐานในการคำนวณเรื่องอัตรา ตำแหน่ง ความเหมาะสม ความสอดคล้องกับการให้บริการ ไม่ได้ระบุว่าต้องให้เท่านี้ แต่เอาข้อมูลเหล่านี้มาเป็นตัวตั้งในการคำนวณว่า จะวางแผนกำลังคนเท่าไหร่อย่างไร ในแต่ละวิชาชีพ