ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตแพทย์ปฎิบัติงานในชุมชน โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข และคุณภาพระบบสุขภาพไทย เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือในการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เห็นชอบอนุมัติ ในหลักการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556-2560 เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบปกติอีก 9,039 คน ประกอบด้วยการผลิตจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงศึกษาธิการ 4,038 คน และการผลิตจากโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข 5,001 คน ให้สามารถรองรับการขยายการให้บริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดลได้ตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาความแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์มาอย่างยาวนาน และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยสถาบันสมทบ และ หลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมและการดำเนินงานของสถาบันสมทบ รวมถึงการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ในเรื่องดูแลการคัดเลือกนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาและดูแลนักศึกษา การพัฒนาอาจารย์ การกำกับและการประกันคุณภาพการศึกษา และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรค่าใช้จ่ายให้มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลจะประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

โดยมี 2 เครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการคือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีกับ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกันผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทปีละ 112 คน เครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกับ โรงพยาบาลราชบุรี ร่วมกันผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทปีละ 32 คน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เป็นความร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ 14 แห่ง โดยการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบท รับทุนกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียนแพทย์เป็นเวลา 6 ปี และมีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดในพื้นที่ หลังสำเร็จการศึกษาอย่างน้อย 3 ปี โดยการจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 1-3 เรียนที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 37 แห่ง จนถึงขณะนี้มีแพทย์จบจากโครงการนี้ไปแล้วกว่า 7,852 คน