ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนามัยโพล เผย ปชช.กังวลสุขภาพสูงวัย 3 ด้าน การหกล้ม 71.81% สมองเสื่อม 63.39% ปัญหาทางสายตา 54% พร้อมเสนอให้สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มเติมทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญ และเสริมกิจกรรมกระตุ้นสมอง กรมอนามัย ย้ำแนวคิด “ชะลอชรา ชีวายืนยาว” 6 ประเด็นสำคัญ แนะครอบครัวหากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกัน 

วันนี้ (11 เมษายน 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีสืบสานสงกรานต์วิถีไทย กรมอนามัยห่วงใยผู้สูงอายุ ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า กรมอนามัยขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นสังคมผู้สูงอายุ เน้นให้ผู้สูงอายุทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ มีระบบบริการทุกระดับรองรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทั่วถึง ต่อเนื่อง และการสร้างระบบในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ทั้งในมิติครอบครัวและชุมชน โดยการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ชุมชน และทุกภาคส่วน สำหรับประเทศไทยวันผู้สูงอายุตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากกิจกรรมทำบุญตักบาตรตามวิถีชาวพุทธแล้ว กิจกรรมสำคัญคือการรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพนับถือ สร้างความรัก ความผูกพัน เป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้สูงอายุได้แสดงออกและมองเห็นถึงความสำคัญของตนเอง   

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพลการเตรียมพร้อม รับสังคมสูงวัย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 พบว่า 3 อันดับแรก ที่ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลสุขภาพมากที่สุด คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย (การหกล้ม) ร้อยละ 71.81 ความคิดความจำ (สมองเสื่อม) ร้อยละ 63.39 การมองเห็น (ปัญหาทางสายตา) ร้อยละ 54 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การเดิน ความคิดความจำ และ การมองเห็น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลตัวเองสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน ประชาชน ร้อยละ 24 เคยรับบริการจากผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือ Caregiver พร้อมเสนอให้สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มเติมทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญ และเสริมกิจกรรมกระตุ้นสมอง ดูแลจิตใจและสร้างความสุข เช่น งานศิลปะ การอ่าน และการแสดง เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกสนุกสนานและตื่นตัวอยู่เสมอ 

“การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อชะลอความเสื่อมร่างกาย ให้มีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลพึ่งพาตนเองคงสภาพไม่ให้เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Lifestyle) ภายใต้แนวคิด “ชะลอชรา ชีวายืนยาว” ใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหว โภชนาการ สุขภาพช่องปาก สมองดี  มีความสุข และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุจัดทำแผนส่งเสริมสุขภาพดี (Wellness Plan) ผ่านกลไกครอบครัว ชุมชน และการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ลดการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว