ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Financial Data Hub (FDH)  ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน เพิ่มฟังก์ชันใหม่ให้หน่วยบริการทำงานได้สะดวกขึ้น

FDH จัดประชุมหารือและติดตามการเบิกจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล ผ่าน MOPH Financial Data Hub กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ. ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. เป็นประธาน โดย สปสช. รับข้อเสนอแนะไปหาวิธีดำเนินการ ได้แก่ การติด C ในรายการเกินสิทธิประโยชน์ เช่น ANC Ultrasound UCEP ราคาเรียกเก็บเกินสิทธิ Drug Catalog/Lab Catalog การอุทธรณ์ การปรับลดอัตราจ่าย กรณีส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายล่าช้ากว่าที่กำหนด การคืนค่าเป็นรายบุคคล การปิดสิทธิด้วยวิธีจองเคลม การผ่อนปรนประกาศ คกก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีไม่ได้แสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ สำหรับการส่งข้อมูลของ รพ.สต. สังกัด สป.สธ. ให้ กสธ. ทำหนังสือแจ้งรายชือ รพ.สต.ทั้งหมด ให้ สปสช.ทราบ เพื่อเปิดรับการส่งข้อมูล

และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 FDH จัดอบรมสำหรับเขตสุขภาพที่ 7 และผู้ที่สนใจ โดยมีนายแพทย์ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เป็นประธานในการอบรม นอกจากการบรรยายภาพรวมของ FDH แล้วได้แจ้งความก้าวหน้าจากการประชุมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงเปิดตัวฟังก์ชันใหม่ในแดชบอร์ด FDH ตามที่ได้รวบรวมปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะจากหน่วยบริการมาพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่

1. screen สำหรับตรวจสอบและแก้ไขข้อมูล C เพื่อให้หน่วยบริการส่งเคลมได้ทันตามกำหนดและเพิ่มความสมบูรณ์ของเวชระเบียนเบิกจ่าย

 

2. กระบวนการปิดสิทธิด้วยวิธีจองเคลม ผ่าน FDH มีแดชบอร์ดติดตามจำนวนการจองเคลมรายวัน ลดปัญหาการปฏิเสธการจ่ายชดเชยจากกองทุน

3. ติดตามข้อมูลค้างจ่ายเกินกำหนด ช่วยให้ติดตามการจ่ายค่าชดเชยของกองทุนได้ครบถ้วน

4. แสดงยอดเรียกเก็บและเงินชดเชยพึงรับ แยกรายละอียดเป็นบริการเฉพาะ OP, รายการ OP เหมาจ่ายรายหัว ทราบสัดส่วนเงิน OP On-Top ง่ายต่อการกำกับติดตาม

5. รายการเข้ารับบริการทั้งหมดตามสิทธิ สิทธิหลักประกันสุขภาพ” เพื่อให้ รพ. ติดตามจำนวนรายการที่ FDH รับข้อมูลจาก HIS จำนวนรายการที่ สปสช. รับข้อมูล อนุมัติ และโอนเงินสำเร็จ เป็นรายวัน

สำหรับผลการส่งข้อมูล ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตามผลการดำเนินงาน Interactive Dashboard ของ FDH ที่แสดงข้อมูลการตอบกลับจาก สปสช. แบบ Realtime ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์พกพา

ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 7 ที่มีระบบบริหารจัดการภายในที่สามารถส่งข้อมูลเข้า FDH และผ่านการพิจารณาได้รับการอนุมัติเงินจาก สปสช. อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด โรงพยาบาลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

นางรติยา วิภักดิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ ยุทธศาสตร์ และสารสนเทศทางการแพทย์ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอว่าโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมภายในโรงพยาบาล ด้วยการจัดประชุมชี้แจงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ปรับ HIS ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่ง แต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบแต่ละกองทุน จัดตารางเวรส่งข้อมูล FDH และตรวจสอบข้อมูลทั้งใน FDH และ e-Claim ถึงแม้ช่วงแรก ๆ ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จะเป็นการเพิ่มภาระงาน แต่ข้อดีของ FDH คือ มีระบบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทันเวลา และสะท้อนข้อมูลจริง ทั้งจากฐานข้อมูล HIS และข้อมูลเคลมตรงกัน

จากการเตรียมความพร้อมภายในโรงพยาบาลและส่งข้อมูลผ่าน FDH เป็นรายวัน ส่งผลให้ข้อมูลที่ส่งไป สปสช. ได้รับการอนุมัติและได้รับการโอนเงินสำเร็จเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยโรงพยาบาลสามารถติดตามรายการที่ไม่ได้รับการอนุมัติและไม่ได้รับการโอนเงินจากแดชบอร์ดเป็นรายวัน

นายแพทย์กิตติศักดิ์ พนมพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด นำเสนอว่า โรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อม ได้แก่ การส่งบุคลากรเข้ารับการประชุม อบรม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ คณะกรรมการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล จัดเจ้าหน้าที่ขึ้นเวรเพื่อเบิกจ่ายค่าใช้จ่าย (บ่าย) มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างงาน IT งานประกันสุขภาพ ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งและหลังส่ง

และนายรังสรรค์ ศรีสารคาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน โรงพยาบาลมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ที่พัฒนา HIS เอง โดย นำเสนอวิธีการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพชี้แจง และข้อดีของ FDH คือประมวลผลเร็ว แตกต่างจากระบบ e-Claim Online ในการค้นหาและตรวจสอบ

ซึ่งผลจากการประชุมร่วมกับ สปสช. การอบรม FDH ให้กับผู้สนใจ และการพัฒนาฟังก์ชันขึ้นมาใหม่ มีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยบริการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก สามารถเบิกเคลมได้ทันเวลา และเพิ่มสภาพคล่องให้กับหน่วยบริการได้ต่อไป ทั้งนี้หน่วยบริการใน 4+8 จังหวัดนำร่องและ 6 เขตสุขภาพนำร่อง ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ เพื่อให้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องอุทธรณ์ในภายหลัง.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง