ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สระบุรี - อบจ.สระบุรี เชื่อมเครือข่าย คลินิกกายภาพบำบัด "ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง" พร้อมบริการดูแลถึงบ้าน ภายใต้ "สิทธิบัตรทอง" ช่วยลดความพิการและเป็นผู้ป่วยติดเตียง ด้าน อบจ.สระบุรี เล็งเปิดคลินิกกายภาพบำบัดนอกเวลา เติมทางเลือกให้ผู้ป่วยในพื้นที่ 
 
วันที่ 25 พ.ค. 2567 นพ.สราวุธ ครองสัตย์ นายแพทย์ชำนาญการสาขาระบบประสาทวิทยา โรงพยาบาลสระบุรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เปิดเผยว่า จ.สระบุรี มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ราว 1,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 3-5 รายต่อวัน ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุจากโรคประจำตัว โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว ซึ่งโรคนี้มีผลต่อระบบประสาทและสมองหากรักษาไม่ทันเวลา ทั้งภายหลังการรักษายังต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีและสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้พิการและติดบ้านติดเตียง 

ทั้งนี้ สัญญาณของโรคสโตรกที่ต้องจดจำ คือ FAST ที่บ่งชี้ความผิดปกติของร่างกายที่สังเกตได้เบื้องต้น เริ่มจาก Face (ใบหน้า) ดูว่าปากเบี้ยวหรือไม่, Arm (แขน) รวมถึงขารู้สึกว่ามีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกหรือไม่ รวมถึงการทรงตัว Speech (การพูด) เกิดภาวะลิ้นแข็ง พูดชัดเจนทันทีทันใด และ Timing (ระยะเวลา) รู้เวลาที่เริ่มมีอาการ และต้องนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในช่วงเวลาทองไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการ ซึ่งจะลดอัตราความพิการและกลับมาใช้ชีวิตปกตได้ หลังเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (IMC : Intermediate Care) 

"ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รับการรักษาแล้ว จะมีผลกระทบต่อระบบประสาท ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ทั้งการยืน นั่ง เดิน รับประทานอาหาร หรือการสื่อสาร ซึ่งการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลางมีความสำคัญไม่แพ้การรักษา" นพ.สราวุธ กล่าว

 

 

ด้าน นพ.ศุภศิลป์ จำปานาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่พ้นวิกฤตแล้ว จะได้รับการประเมินความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน หากพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์จะให้เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด รวมถึงฝึกพูด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติได้มากที่สุด โดยผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดอย่างน้อย 20 ครั้งในระยะเวลา 6 เดือน หรือเฉลี่ย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะทำให้เกิดผลลัพธ์การบำบัดฟื้นฟูที่ดี แต่ด้วยจำนวนนักกายภาพบำบัดของ รพ.สระบุรี มีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่ได้รับการบำบัดหลักเกณฑ์ 

ดังนั้น รพ.สระบุรี ได้ร่วมมือกับเครือข่าย โดยเฉพาะคลินิกกายภาพบำบัดทเอกชนที่เข้าร่วมเป็น “คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่น” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ขณะนี้มีจำนวน 4 แห่ง ร่วมให้บริการ ทำให้ผู้ป่วยบัตรทองได้รับการฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี (อบจ.สระบุรี) ที่ใช้กลไก “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสระบุรี” ในการสนับสนุนกายอุปกรณ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย และปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยให้เหมาะสม รวมถึงยังมีการจัดตั้งศูนย์ร่วมสุข 74 แห่ง ที่เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลส่งสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในจังหวัด ทำให้งานด้านบำบัดฟื้นฟูฯ ของสระบุรีดีขึ้นอย่างมาก สามารถดูแลผู้ป่วยให้ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและครอบคลุมทุกรายไม่ตกหล่น   


 
นักกายภาพบำบัด (กภ.) ณัฏฐาพร พงษ์เขียว นักกายภาพบำบัด สุภาภรณ์คลินิกกายภาพบำบัด กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเครือข่ายเพื่อให้บริการฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยระยะกลางกับ รพ.สระบุรีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผู้ป่วยที่รับส่งต่อส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรทอง นอกจากเป็นทางเลือกบริการฟื้นฟูฯ ให้กับผู้ป่วยแล้ว ทางคลินิกกายภาพบำบัดยังได้มีส่วนร่วมในชุมชน เพราะผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะเป็นการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและนอกเวลาราชการที่มีญาติผู้ป่วยอยู่ด้วย ทำให้สามารถแนะนำคนในครอบครัวในการช่วยบริหารฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนียังช่วยประเมินสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัยว่ามีความเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ ในกรณีที่ต้องปรับปรุงก็จะทำเรื่องส่งต่อไปที่ศูนย์ข้อมูลบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ รพ.สระบุรี เพื่อประสานกองทุนฟื้นฟูฯ จ.สระบุรี ให้เข้ามาปรับปรุง 

ทั้งนี้ผู้ป่วยพึงพอใจอย่างมาก ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทางคลินิกกายภาพบำบัดฯ จะเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในอัตรา 450 บาทต่อครั้ง และมค่าเดินทางกรณีไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน200 บาทต่อราย 

 
"ที่ร่วมให้บริการนี้ เนื่องจากเคยทำงานที่ รพ.สระบุรีและเห็นว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องบำบัดฟื้นฟูฯ จึงอยากช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการโดยสะดวกและรับบริการต่อเนื่อง ซึ่งจากที่คลินิกฯ ดูแลผู้ป่วยกว่า 100 รายในช่วงที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ตรงนี้เป็นกำลังใจต่อนักกายภาพบำบัดและคลินิกฯ เองอย่างมาก" กภ.ณัฏฐาพร กล่าว

นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี (อบจ.สระบุรี) กล่าวว่า งบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสระบุรี อยู่ปีละ 8 ล้านบาท จากการสมทบของ สปสช. และ อบจ.สระบุรี ส่วนหนึ่งนำมาดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านศูนย์ร่วมสุข 74 แห่ง ครอบคลุม 13 อำเภอ ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพที่อยู่ รพ.สต. มีเจ้าหน้าที่รวมถึงจิตอาสามาให้บริการกายภาพบำบัด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงการให้บริการที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินทาง พร้อมมีบริการให้ยืมกายอุปกรณ์กับผู้ป่วยที่จำเป็นกว่า 4,000 ครั้ง มีศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา และมีบริการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยของผู้ป่วยให้เหมาะสมไปกว่า 500 หลัง ทั้งการติดราวจับ ปรับพื้นผิวบ้าน ปรับปรุงห้องน้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดคลินิกกายภาพบำบัดนอกเวลา ซึ่งจะมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและมีนักกายภาพบำบัดมาดูแล โดยใช้พื้นที่ของ อบจ.ปรับปรุงเป็นคลินิก ให้บริการตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. เป็นการเพิ่มทางเลือกให้มีช่องทางการเข้าถึงบริการที่มากขึ้น 

ขณะที่ นายวิชาญ พึ่งเจริญ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อายุ 60 ปี กล่าวว่า ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แขนขาอ่อนแรง ขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ชัด มองเห็นพร่ามัว และเวียนหัวอยู่ตลอดเวลา จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.สระบุรี และกลับมาพักฟื้นที่บ้านพร้อมรับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพจากคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น ซึ่งจะมีนักกายภาพบำบัดมาดูแล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ร่างกายค่อยๆ ดีขึ้น สามารถลุกนั่ง ยืน และเดินใกล้ๆ ได้ ทำให้ดีใจอย่างมาก 

"ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะเดินไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าบำบัดฟื้นฟูฯ แต่คุณหมอที่ รพ.สระบุรีบอกว่า สิทธิบัตรทองก็มีบริการบำบัดฟื้นฟูที่บ้านได้ มีนักกายภาพบำบัดมาช่วยดูแล ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยก็ดีใจ ซึ่งก็มีนักกายภาพบำบัดมาดูแลที่บ้านจริงๆ ให้คำแนะนำวิธีการฝึกที่ถูกต้องและกำชับให้ทำอย่างสม่ำเสมอ จนทุกวันนี้ดีขึ้นแล้ว คิดว่าในในอีก 2-3 เดือนจากนี้จะกลับไปทำงาน ซึ่งต้องขอบคุณคุณหมอที่ รพ.สระบุรี รวมถึงสิทธิบัตรทองที่ทำให้ได้รับการดูแลที่ดีนี" ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวตอนท้าย