ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอศุภศิลป์” รพ.สระบุรี คกก.ตรวจสอบเวชระเบียน สปสช.เขต 4 ระบุการตรวจสอบเบิกจ่ายผู้ป่วยในเป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละ รพ.จะมีบุคลากรร่วมเป็นผู้ตรวจสอบเวชระเบียนของ สปสช. ด้วย ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาระบบการสรุปการวินิจฉัยโรคและหัตถการใน รพ.ของตนเอง รวมทั้งการสอนหรือเผยแพร่ความรู้ที่ได้ไปยัง รพซอื่นๆ อีกด้วย แนะ สปสช.อธิบายระบบการตรวจสอบให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นพ.ศุภศิลป์ จำปานาค นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ (เวชศาสตร์ฟื้นฟู) โรงพยาบาลสระบุรี และคณะกรรมการตรวจสอบเวชระเบียน สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าวถึงการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ว่า การตรวจสอบการเบิกจ่ายผู้ป่วยในเป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้รูปแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups : DRG) ไม่ใช่การจ่ายตามค่าบริการที่เรียกเก็บ (fee-for-service) เนื่องจากระบบการรักษาของแต่ละโรงพยาบาลจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งการสรุปโรคและหัตถการที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกันมีความสำคัญมากต่อระบบ DRG โดยการรักษามาตรฐานดังกล่าวจึงต้องมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบเวชระเบียนควบคู่กันไป

นพ.ศุภศิลป์ กล่าวว่า มาตรฐานการสรุปการวินิจฉัยโรคและหัตถการได้มีการจัดทำมานานแล้วและได้มีการพัฒนาให้มีความชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แม้จะไม่ได้เรียนจบมาจากที่เดียวกันหรืออาจมีรูปแบบการรักษาผู้ป่วยที่แตกต่างกัน แต่เมื่อระบบการเบิกจ่ายใช้เงินจากกองทุนสุขภาพที่ใช้ระบบ DRG จึงควรมีการศึกษาแนวทางการสรุปการวินิจฉัยโรคและหัตถการอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และมีการกระจายเงินในกองทุนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศอย่างยุติธรรม

“บทบาทการตรวจสอบก็ต้องคงไว้ และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบเวชระเบียน แต่ส่วนหนึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีบุคลากรที่ร่วมเป็นผู้ตรวจสอบเวชระเบียนของ สปสช. ด้วยเช่นกันเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการตรวจสอบในแต่ละปี ผลที่ได้อีกส่วนคือการเรียนรู้ร่วมกันและนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาระบบการสรุปการวินิจฉัยโรคและหัตถการในโรงพยาบาลของตนเอง รวมทั้งการสอนหรือเผยแพร่ความรู้ที่ได้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อีกด้วย” นพ.ศุภศิลป์ กล่าว

นพ.ศุภศิลป์ กล่าวอีกว่า สปสช.จะมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ทั้งการสุ่มเลือก หรือเลือกมาตามเงื่อนไขการตรวจสอบโดยตรง ซึ่งผลการตรวจสอบที่ได้ในแต่ละปีก็สามารถนำมาวิเคราะห์ความถูกต้องหรือความผิดพลาดในการสรุปการวินิจฉัยโรคและหัตถการของแพทย์ รวมทั้งการให้รหัสของผู้ให้รหัสได้ แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเวชระเบียนมีจำนวนมากมหาศาล ซึ่งไม่อาจตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้น สปสช.จึงต้องมีการตั้งเงื่อนไขการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาเพื่อคัดเลือกเวชระเบียนบางส่วนมาตรวจสอบ

“แต่ระบบการตรวจสอบเวชระเบียนเพื่อการเบิกจ่ายของ สปสช.นั้น ในปัจจุบันยังคงรู้จักและเข้าใจเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องบางสวนเท่านั้น และที่สำคัญคือแพทย์ รวมถึงบุคลากรด้านอื่นๆ ของโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเบิกจ่ายค่าชดเชยตามระบบ DRG จึงอาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนด้วย สปสช.เองก็ควรจะต้องอธิบายระบบการตรวจสอบให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้ศัพท์ในการอธิบายที่เข้าใจง่าย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในระบบเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในและระบบการตรวจสอบเวชระเบียนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน” นพ.ศุภศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย