ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. ประชุมผู้บริหารทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ไข "ปัญหายาเสพติด" ในรูปแบบ Patient Journey ตอบรับนโยบายรัฐบาล ชี้ "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว" ในระดับจังหวัดต้องมีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีโดยเน้นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  จังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 มีผู้บริหารระดับสูงและหน่วยงานระดับกองในส่วนกลางและผู้บริหารหน่วยงานส่วนภูมิภาคร่วมประชุม โดยได้กำชับการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567 ให้เร่งรัดการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง

รวมถึงขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้การสนับสนุนโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกัน อัมพาต ครั้งที่ 10 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ, การแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งรัดของรัฐบาล ให้ทุกจังหวัดเน้นการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการด้วยกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด ตามแนวทาง Patient Journey นำข้อมูลจาก Dash Board ไปใช้ประโยชน์ และสื่อสารให้ถึงระดับผู้ปฏิบัติ การยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้จังหวัดที่มีความพร้อมดำเนินการในระดับจังหวัดได้ทันที โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย

นอกจากนี้ ได้ให้แนวทางการป้องกันและจัดการความรุนแรงในโรงพยาบาล โดยประกาศเป็นนโยบาย พร้อมทบทวนแผนให้เป็นปัจจุบัน และสื่อสารถึงบุคลากรทุกคนในหน่วยงานให้เกิดความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้อง และฝึกซ้อมแผนเป็นระยะ, จัดระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาล อาคาร หอผู้ป่วย ห้องฉุกเฉิน สื่อสารให้ประชาชนหรือผู้รับบริการทราบ, จัดระบบเตือนภัยและกล้องวงจรปิดในบริเวณที่มีความเสี่ยง และมีระบบรายงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสม สามารถพัฒนาระบบต่อไปได้ และจัดระบบการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาเจ้าหน้าที่และผู้ได้รับผลกระทบหลังเกิดเหตุการณ์

สำหรับการประชุมสัญจรครั้งนี้ ผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสศึกษาดูงานใน 3 ประเด็นสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ 1. การพัฒนาระบบบริการ ได้แก่ การใช้ AI ในการเอกซ์เรย์ปอด ตรวจจอประสาทตา เขียนผลการตรวจของแพทย์, ศูนย์โรคหัวใจครบวงจร, ศูนย์โรคมะเร็ง ที่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช 2. Smart Environment ปรับภูมิทัศน์โรงพยาบาลให้ทันสมัยเอื้อต่อการจัดบริการประชาชน ที่ โรงพยาบาลขนอม 3. Smart Hospital นำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการระบบบริการ และอำนวยความสะดวกบุคลากรในการทำงาน ที่ โรงพยาบาลพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่เข้ารับบริการ