ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นักวิชาการด้านกีฏวิทยาและสาธารณสุข เตือนสังคม ภัยร้ายจากยาฆ่าแมลง ยิ่งทำให้แมลงศัตรูพืชระบาด ทำพืชผลเกษตรเสียหายหนัก ชี้ ข้อมูลรัฐเข้าไม่ถึง เกษตรกรยังฟังคำโฆษณา-คำแนะนำร้านขายยา วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดการก่อนเกิดวิกฤตด้านความปลอดภัยอาหารซ้ำเติมผู้บริโภค

ดร.สังวาล สมบูรณ์ อาจารย์ด้านกีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หนึ่งในนักวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) กล่าวว่า สังคมยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสารเคมีฆ่าแมลงอยู่มาก สารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และต้องใช้อย่างระมัดระวัง การพึ่งพาสารเคมีฆ่าแมลงมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการดื้อยาและการระบาดของแมลงตามมา กรณีที่ชัดที่สุดคือการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว ที่จะมีช่วงระบาดของมันทุกๆ 10 ปี แต่ช่วงหลังรุนแรงมากขึ้น และระบาดถี่ขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การปลูกข้าวพันธุ์ซ้ำๆ 3-4 รอบในหนึ่งปี วิธีการปลูกแบบหว่านที่ต้องใช้เมล็ดข้าว เยอะและปุ๋ยเคมีเยอะ รวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลงหลายชนิดปนกันในอัตราสูง

“เมื่อเกษตรกรเห็นว่าเริ่มมีการระบาด ก็เริ่มใช้สารเคมีที่มากขึ้น เข้มข้นขึ้น ยิ่งทำให้กลไกการรักษาสมดุลในธรรมชาติเสียหาย ตัวห้ำ ตัวเบียน ซึ่งเป็นแมลงช่วยกำจัดศัตรูพืช ก็ไม่เหลือ แต่เพลี้ยที่มีวงจรชีวิตสั้นกว่า จะสามารถพัฒนาความต้านทานสารเคมีได้ก่อนและเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในที่สุด” ดร.สังวาล กล่าว

ดร.สุภาพร ใจการุณ อาจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อมูลชัดเจนว่าสารเคมีชนิดใดไม่ควรใช้เพราะจะทำให้ยิ่งเกิดการระบาด แต่ข้อมูลเหล่านี้ไปไม่ถึงเกษตรกร เพราะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นตัวกลาง ซึ่งมีข้อจำกัดด้านบุคลากร เกษตรกรจึงพึ่งคำโฆษณาและคำแนะนำของร้านค้าและเซลล์ขายสารเคมีเป็นหลัก ซึ่งการโฆษณามักเน้นใช้คำจูงใจ เช่น “ตายสนิทและเฉียบพลัน” ขณะที่การควบคุมสารเคมี มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เช่น สารเคมีตัวที่กำลังเฝ้าระวังและผลักดันไม่ให้ขึ้นทะเบียน คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยสองตัวแรกมีข้อมูลว่า ยิ่งทำให้แมลงศัตรูข้าวระบาด หากรัฐยอมให้ขึ้นทะเบียนสารต้องห้ามเหล่านี้ จะจัดการปัญหาที่ตามมาอย่างไร ใครจะเป็นคนรับกรรมต่อ ถ้าไม่ใช่เกษตรกรและผู้บริโภค

 

ที่มา : www.manager.co.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง