ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. จับมือ จุฬาฯ พัฒนานักวิจัยระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพที่สามารถทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2558 "สร้างนักวิจัยหน้าใหม่ในระบบสุขภาพพื้นที่" ณ โรงแรมมณเฑียร กทม.

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีทรัพยากรนักวิจัยทางด้านสุขภาพค่อนข้างจำกัด ขณะที่ระบบสาธารณสุขยังคงต้องการความรู้เพื่อนำมาพัฒนานโยบายให้เหมาะสมกับบริบทสังคม ดังนั้นการตั้งโจทย์เชิงระบบ เพื่อพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ของการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน เช่น การลดอัตราการป่วย การนอนติดเตียงที่ไม่จำเป็น ลดการเสียชีวิตของประชากร การตอบสนองต่อความจำเป็นของระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารการเงินในระบบให้ทุกครัวเรือนไม่ประสบภาวะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงจนนำไปสู่การล้มละลาย เป็นต้น

ผอ.สวรส. มองว่า การที่จะสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ในระดับพื้นที่ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคต เพราะนโยบายทางด้านสุขภาพอาจมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถกำหนดให้ปฏิบัติทั้งประเทศได้ เช่น เรื่องอนามัยแม่และเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พบการเสียชีวิตของมารดาสูงขึ้น โดยพบปัญหาด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ ฉะนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายจะต้องมีกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จึงมีความต้องการโจทย์วิจัยที่แตกต่างกันไป

“การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ระดับพื้นที่ เราคาดหวังว่านักวิจัยกลุ่มนี้จะเป็นผู้ปิดทองหลังพระ มีข้อมูลความรู้จากการศึกษาวิจัยในเรื่องที่สอดคล้องกับปัญหาพื้นที่ วันหนึ่งข้างหน้าโจทย์หรือปัญหาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ผลจากงานวิจัยที่ศึกษาสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารของพื้นที่ต่อไป หรือเมื่อมีการนำผลวิจัยไปปฏิบัติ นักวิจัยสามารถใช้โอกาสนี้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานจากนโยบายได้ ซึ่งจะทำให้งานวิจัยผูกติดกับนโยบายนั้นๆได้ ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวยนัก จึงต้องอาศัยความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาประสิทธิภาพของระบบสุขภาพภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด” นพ.พีรพล กล่าว

ผศ.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ปัญหาของการวิจัยระบบสุขภาพด้านหนึ่ง คือ การขาดนักวิจัยเชิงระบบหรือเชิงนโยบาย ที่ผ่านมา สวรส. มีโจทย์วิจัยจำนวนมาก แต่ในหลายๆ โจทย์ไม่สามารถหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาร่วมงานได้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดทางด้านเวลาหรือนักวิจัยที่เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษามีงานประจำล้นมืออยู่แล้ว สิ่งที่ สวรส. พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การสร้างและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะนักวิจัยในระดับพื้นที่ เช่น นักวิชาการในเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการ ที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน

“นโยบายทางด้านสาธารณสุขไม่ควรเป็นนโยบายลักษณะเสื้อโหล ที่ออกมาจากส่วนกลางแล้วนำมาใช้ทั่วประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีนโยบายที่ออกมาจากพื้นที่และเหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นได้ การสร้างนักวิจัยในระดับพื้นที่จึงเป็นโอกาสที่แต่ละพื้นที่จะได้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่นำมาทบทวน วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายได้ตรงกับความต้องการและมีความเป็นไปได้ ที่ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เช่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในเขตบริการสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลทุกระดับ ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในเขตที่รับผิดชอบ” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว

รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ ประสพสันติ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภารกิจด้านหนึ่งของคณะฯ คือการสร้างองค์ความรู้ สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า ให้บริการทางการแพทย์และวิชาการเพื่อชี้นำสังคม โดยพร้อมที่จะร่วมมือกับ สวรส. ในการสนับสนุนในส่วนของการเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาศักยภาพนักวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย โจทย์สำคัญคือ ต้องการเห็นนักวิจัยที่ดี เพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ดี มีความรับผิดชอบ เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญนักวิจัยหน้าใหม่จะต้องทำวิจัยให้ตรงกับความจริงมากที่สุด เพราะข้อมูลในทุกวันนี้มีความจริงที่แฝงความเท็จร่วมอยู่ด้วย

ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้ร่วมกับ สวรส. ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรพัฒนานักวิจัยด้านนโยบายในเขตสุขภาพ รุ่นที่ 1 เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ให้มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพที่สามารถทำงานวิจัยโดยใช้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพของตนเองมาพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักวิจัยหน้าใหม่ที่ผ่านการอบรมและมีผลงานวิจัยแล้ว จำนวน 14 คน/ผลงาน เช่น โครงการวิจัยวิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของงานอนามัยแม่และเด็ก ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการศึกษาต้นทุนและประสิทธิภาพของการให้บริการยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลชุมชน การศึกษาระยะเวลาในการมารับการรักษาของผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในจังหวัดอุบลราชธานี การจัดบริการสำหรับผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 เป็นต้น