ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

๑๐๐ ปีการสาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461 –2561)

ก่อนการก่อตั้งกรมสาธารณสุข

ก่อนการตั้งกรมสาธารณสุขใน พ.ศ. ๒๔๖๑ การสาธารณสุขของสยามยังไม่ได้มีการจัดให้เป็นระบบปัญหาสุขภาพหลัก คือโรคระบาด ซึ่งทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปครั้งละมากๆ โดยเฉพาะไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค และกาฬโรคหลังการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชและเปิดให้บริการใน พ.ศ. ๒๔๓๑ คณะกรรมการจัดการโรงพยาบาลหมดหน้าที่ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมพยาบาลขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆรวมทั้งจัดการศึกษาวิชาแพทย์ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชนต่อมา เมื่อกรมพยาบาลมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ยังได้ทำหน้าที่จัดตั้งโรงเรียนนางผดุงครรภ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ จัดตั้งสถานทำหนองฝีจัดให้มีแพทย์ประจำเมืองทำยาจำหน่ายในราคาถูก รวมทั้งจัดซื้อยาจากต่างประเทศมาจำหน่ายนอกจากนั้น ยังมีหน้าที่จัดตั้งกองแพทย์เพื่อออกไปป้องกันโรคระบาดและปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแก่ประชาชนตามหัวเมืองภารกิจเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มบุกเบิกงานสาธารณสุขในยุคแรกขึ้น ต่อมามีการก่อตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เพื่อจัดการกับปัญหาการสุขาภิบาลซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างแออัด ขยะถูกทิ้งเกลื่อนกลาดทั่วไป ผู้คนขับถ่ายของเสียตามที่สาธารณะ จนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง

ในยุคสมัยนั้น แม้จะมีโรงพยาบาลเกิดขึ้นแล้ว แต่การรักษาแบบสมัยใหม่ยังไม่เป็นที่นิยมชาวสยามจึงอาศัยหมอไทยหรือ “หมอเชลยศักดิ์” ที่มีอยู่ทั่วไปรวมทั้งร้านยาจีนของหมอชาวจีนในการบำบัดรักษาโรคเมื่อมิชชันนารีตะวันตกนำการแพทย์สมัยใหม่มาเผยแพร่จึงมีการสร้างโรงพยาบาลขึ้น เช่น โรงพยาบาลของมิชชันนารีที่เพชรบุรี สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๓ในส่วนของรัฐบาลไทย นอกจากจะมีการก่อสร้างศิริราชพยาบาลขึ้นเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๑ แล้ว ต่อมายังได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลเสียจริต (สมเด็จเจ้าพระยา) โรงพยาบาลบูรพา และโรงพยาบาลเทพศิรินทร์ ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ โรงพยาบาลทหารเรือ วัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ. ๒๔๓๓ โรงพยาบาลบางรัก พ.ศ. ๒๔๓๒ โรงพยาบาลหญิงหาเงิน พ.ศ. ๒๔๔๐ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลกลางใน พ.ศ. ๒๔๕๘) และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นต้น ในขณะเดียวกันมีโรงพยาบาลของมิชชันนารีถูกสร้างเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๓๑ (ต่อมาพัฒนาเป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ใน พ.ศ.๒๔๖๗) โรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ๒๔๓๕โรงพยาบาลบางกอกเนิสซิงโฮมและโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ พ.ศ. ๒๔๔๑ ในส่วนขององค์กรการกุศลของชาวจีนมีการสร้างโรงพยาบาลเทียนฟ้าขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๖ เพื่อเป็นที่บำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน

ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ กรมพยาบาลซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการถูกยกเลิกไป งานต่างๆ ถูกโอนไปให้กรมศึกษาธิการและกระทรวงนครบาล ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการก่อตั้งกรมพยาบาลขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๙งานสาธารณสุขจึงมีสภาพที่กระจัดกระจายกันอยู่ในหลายกรมและหลายกระทรวง

การเกิดขึ้นของกรมสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๔๖๑)

การทำงานสาธารณสุขที่ซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานที่ดีทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้รวมหน่วยงานต่างๆ ที่แยกย้ายกันอยู่ให้เป็นแผนกเดียวกัน โดยการก่อตั้งกรมสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน 2461โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีคนแรก ในระยะแรก การรวมงานด้านการสาธารณสุขเข้าไว้ด้วยกันมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทั้งในเรื่องการแบ่งงาน การโอนความรับผิดชอบและเรื่องงบประมาณอย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขจนสามารถดำเนินกิจการด้านการสาธารณสุขโดยถือหลัก “การป้องกันถูกกว่าการแก้” มุ่งเน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะการปราบโรคระบาด เช่น ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค และกาฬโรค มีการสำรวจยุงที่เป็นพาหะของโรค สำรวจและควบคุมโรคเรื้อน บำบัดโรคคุดทะราด และมีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการรณรงค์กำจัดโรคพยาธิปากขอ นอกจากนั้นยังมีการขยายกิจการมารดาทารกสงเคราะห์ จัดการสุขศึกษาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังมีการส่งคนไปเรียนการสาธารณสุขในต่างประเทศจำนวนมากนับว่าการเกิดขึ้นของกรมสาธารณสุขใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นจุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขยุคใหม่อย่างแท้จริง

กำเนิดกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๔๘๕)

กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายมาอยู่ที่วังศุโขทัย เมื่อ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นระยะเวลา ๘ ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่วังเทวะเวสม์

ภารกิจของกรมสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ครั้นเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยแรก(พ.ศ. 2481-2487)แม้จะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และไทยอยู่ในภาวะสงคราม แต่รัฐบาลมีนโยบาย “สร้างชาติ” จึงได้รวมกิจการด้านการสาธารณสุขและยกระดับขึ้นเป็นกระทรวง โดยเหตุผลว่า ประชากรของชาติยังมีอนามัยไม่ดี คนเสียชีวิตแต่ยังเด็กเป็นจำนวนมาก การรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึงและสมบูรณ์เพียงพอ ทั้งจำนวนพลเมืองก็ยังไม่เพิ่มตามที่รัฐต้องการมีการออกพระราชกฤษฎีกาตั้งกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ การให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนประชากรและทำให้พลเมืองไทยแข็งแรง เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นมหาอำนาจตามแนวคิดของผู้นำประเทศ

๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย ๑๐๐ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

ตึกกระทรวงสาธารณสุขที่วังเทวะเวสม์ ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ถ่ายจากทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านการรักษาพยาบาล

การรักษาพยาบาลในระยะแรกนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ โดยความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการผลิตแพทย์ให้ได้มาตรฐานการศึกษาของสหรัฐอเมริกา มีการสร้างโรงพยาบาลศิริราชใหม่จัดหาอุปกรณ์การเรียนและการรักษาพยาบาล รวมทั้งส่งอาจารย์ไปเรียนต่อในต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงหลักสูตรพยาบาลและจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาลขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรด้านการพยาบาล ในยุคเริ่มแรกนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง มีโรงพยาบาลตามหัวเมืองใหญ่ๆ อยู่บ้าง เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น นอกจากโรงพยาบาลของรัฐบาลเหล่านี้แล้วหัวเมืองบางแห่งมีโรงพยาบาลที่มิชชันนารีชาวตะวันตกไปสร้างไว้ด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขและการขยายความเจริญไปสู่หัวเมืองท้องถิ่นมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๗๗ อันเป็นรากฐานของการสาธารณสุขยุคใหม่และมีคำสั่งให้กรมสาธารณสุขสร้างโรงพยาบาลขึ้นทั่วทุกจังหวัด โดยเริ่มที่จังหวัดชายแดนก่อนตาม“นโยบายอวดธง” เพื่อแสดงให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นว่ารัฐบาลไทยในยุคประชาธิปไตยเอาใจใส่ในชีวิตของราษฎร จังหวัดที่มีการสร้างโรงพยาบาลตามนโยบายอวดธงได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย และนครพนมในภาคอีสาน และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในภาคเหนือในขณะเดียวกันก็มีการสร้างสุขศาลาและผลิตบุคลากรทางการแพทย์การสาธารณสุขให้มากขึ้นด้วยการอบรมผู้ช่วยแพทย์และนางผดุงครรภ์ชั้นสองจนเมื่อถึง พ.ศ.๒๔๘๕ ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลของรัฐอยู่ ๓๔ แห่ง (รวมเอาโรงพยาบาลของมิชชันนารีที่รัฐบาลยึดมาในช่วงสงครามโลกด้วย)

การให้บริการสุขภาพในระบบสาธารณสุขไทยขยายตัวและก้าวหน้ามาตามลำดับ ใน พ.ศ.๒๕๐๐ประเทศไทยมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศมีการขยายและพัฒนาบริการสุขภาพในระดับอำเภอและตำบล โดยพัฒนาสุขศาลาชั้นหนึ่งมาเป็น “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” ใน พ.ศ.๒๔๙๗ และเป็น “ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” ใน พ.ศ.๒๕๑๕ เป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ใน พ.ศ.๒๕๑๗ จนเป็น“โรงพยาบาลอำเภอ” ใน พ.ศ.๒๕๑๘ และในช่วง พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมามีการขยายโรงพยาบาลอำเภอจนครบทุกอำเภอในขณะที่ “สถานีอนามัยชั้นสอง” ได้รับการพัฒนาเป็น “สถานีอนามัย” ใน พ.ศ.๒๕๑๕ และเป็น “ศูนย์สุขภาพชุมชน” ใน พ.ศ.๒๕๔๖และใน พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ยกระดับสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้นเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” นอกจากการขยายบริการแล้วยังมีการพัฒนาด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อมีโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาลใน พ.ศ. ๒๕๑๘ การเกิดขึ้นของระบบการประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ให้สิทธิการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนไทยทุกคน

สถานีอนามัยชั้น 1

สถานีอนามัยชั้น 2 ที่อำเภอวังทอง ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปจนหมดแล้ว

ด้านการป้องกันและควบคุมโรค

ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ได้ทำการปลูกฝีป้องกัน ไข้ทรพิษจนได้ผลดี โดยหนองฝีที่ใช้นำเข้ามาจากอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ รัฐบาลไทยได้ตั้งสถานผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นที่สี่กั๊กพระยาศรี มีการออกกฎหมายบังคับให้ราษฎรทุกคนปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษต่อมามีการตั้งสถาบันปาสเตอร์หรือปาสตรุสภาขึ้น เพื่อทำการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษและโรคระบาดสัตว์ใน พ.ศ. ๒๔๕๖การปลูกฝีได้ผลดีจนสามารถกวาดล้างไข้ทรพิษให้หมดไปจากสังคมไทย โดยหลังจาก พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่มีรายงานการค้นพบผู้ป่วยไข้ทรพิษอีกเลยกาฬโรคและคุดทะราดก็ถูกควบคุมอย่างได้ผลจนไม่พบผู้ป่วยอีกเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ และ๒๕๐๙ ตามลำดับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ก็ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จนสามารถปราบปรามกำจัดโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอได้รวมทั้งอหิวาตกโรคและโรคเรื้อนที่แม้จะไม่หายสาบสูญไปแต่ก็ไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขอีกต่อไป

ไข้ทรพิษที่ระบาดอย่างรุนแรง ทำให้เด็กๆ เจ็บป่วยและล้มตายอย่างมากมาย

การออกหน่วยสุขศึกษา รณรงค์ฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ที่เห็นเป็นชุมชนภาคใต้ ซึ่งก็พบว่ามีโรคชุกชุมเช่นกัน

เตรียมน้ำเกลือรับมืออหิวาต์ระบาด เพราะผู้ป่วยอหิวาต์มักเสียชีวิตจากการที่ร่างกายเสียน้ำเพราะถ่ายท้องไม่หยุด

การตรวจร่างกายเพื่อสกรีนผู้ป่วยโรคเรื้อน

แม้สถานการณ์การระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๐ จะรุนแรง แต่ประเทศไทยก็สามารถดำเนินการควบคุมโรคนี้ได้จนเป็นแบบอย่างในระดับโลก เช่นเดียวกับไข้หวัดนก ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ และโรคซาร์ส งานด้านการป้องกันและควบคุมโรคถูกวางรากฐานมาตั้งแต่มีการก่อตั้งแผนกระบาดวิทยาขึ้นในกรมอนามัยราว พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับการยกระดับเป็นกองระบาดวิทยา สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทำให้มีการพัฒนาวิชาการและการจัดระบบการเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการอบรมบุคลากรสาธารณสุขจนในปัจจุบันมีหน่วยเฝ้าระวังและสอบสวนโรคในทุกตำบล อำเภอและจังหวัดแม้ที่ผ่านมา การควบคุมป้องกันโรคหลายชนิดจะดำเนินมาอย่างได้ผลแต่มีโรคอีกไม่น้อยที่ยังเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นโรคที่มีอยู่เดิม เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ไข้เลือดออก วัณโรค หรือโรคใหม่ๆ เช่น โรคเมอร์ส โรคไข้ซิก้า รวมทั้งการระบาดของโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคที่เป็น “พยาธิสังคม” เช่น ปัญหายาเสพติด และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ท้าทายงานด้านการควบคุมโรคในปัจจุบันและอนาคต

นักเรียนผู้ช่วยพยาบาลที่ รพ. ทรวงอก รุ่นที่ 23 ในวันไหว้ครู นักเรียนบางคนที่่ใส่หมวกคลุมเนื่องจาก จะต้องไปขึ้นตึกต่อ จึงต้องใส่หมวกคลุมเพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรค (TB)

ด้านการอนามัยและการส่งเสริมสุขภาพ

การสาธารณสุขในยุคเริ่มแรก รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มพลเมืองโดยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น มีการตั้งองค์การส่งเสริมการสมรส จัดการสมรสหมู่ ริเริ่มการจัดงานวันมารดา ประกวดสุขภาพของมารดา รวมทั้งการก่อตั้งโรงพยาบาลหญิงใน พ.ศ.๒๔๙๔ เพื่อให้การคลอดบุตรเป็นไปอย่างปลอดภัย ต่อมา ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความยากจนจึงมี“นโยบายคุมกำเนิดประชากร” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เป็นผลให้ประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง การมีลูกน้อยลงและการเว้นระยะการมีบุตรให้ห่างขึ้นทำให้แม่และเด็กมีสุขภาพดีขึ้น โครงการส่งเสริมอาหารของชาติที่มีขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๑การเริ่มงานโภชนาการสมัยใหม่ตามหลักวิชาการแพทย์และสาธารณสุข งานด้านส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมภูมิคุ้มกันในเด็ก การโภชนาการ รวมทั้งการจัดหาน้ำสะอาด การสุขาภิบาล การจัดหายาจำเป็นและการรักษาโรคที่พบบ่อยในท้องถิ่น ความสำเร็จจากการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในยุคการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่เริ่มต้นใน พ.ศ.๒๕๒๑โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ การจัดตั้งผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ปัจจุบันอสม. ที่มีอยู่กว่า ๑ล้านคนเป็นกำลังสำคัญของการทำงานสุขภาพเชิงรุกในระดับชุมชน นอกจากการส่งเสริมสุขภาพในระดับชุมชนแล้ว การเกิดขึ้นของกลไกในระดับชาติ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ทำให้การส่งเสริมสุขภาพก้าวรุดหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

เด็กๆ ได้รับการรักษาจากหน่วยแพทย์ที่ออกไปตรวจในชุมชน

การรณรงค์ทำส้วมในชนบท เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 สมัยนั้นยังไม่มีคอห่านสำเร็จรูป ต้องก่อปูนขึ้นรูปเอาทีละอัน

ด้านยา เวชภัณฑ์ วิทยาศาสตร์การแพทย์และการแพทย์แผนไทย

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๕ มีการจัดตั้งโอสถศาลาเพื่อจำหน่ายยาราคาถูกแก่ราษฎรตามหัวเมือง เช่น พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ปราจีนบุรี ต่อมามีการตั้งโอสถสภาขึ้นเพื่อจัดซื้อยาและวัตถุดิบในการผลิตยาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าซื้อยาจากร้านขายยาที่ผลิตในกรุงเทพฯ ด้านการผลิตวัคซีนมีการตั้ง “กองทำพันธุ์หนองฝีและซีรัมของรัฐบาล” ขึ้นที่นครปฐมจนสามารถผลิตพันธุ์หนองฝีสำหรับการป้องกันไข้ทรพิษได้สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๙ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ย้ายมารวมกับ ปาสตุรสภา (สถาบันปาสเตอร์) เพื่อทำหน้าที่ผลิตพันธุ์หนองฝี ปลูกฝี ผลิตซีรั่ม และทำงานด้านการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้สร้างสถานที่ทำการใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานเสาวภา” ในด้านการจัดหายา มีการตั้งโรงงานเภสัชกรรมผลิตยาของรัฐขึ้นเป็นแห่งแรกใน พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อผลิตยาตำราหลวงออกจำหน่ายต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ มีการรวมกิจการของโรงงานเภสัชกรรม และกองโอสถศาลาเป็นองค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ผลิตยาทั้งยาสมัยใหม่และยาจากสมุนไพรเพื่อสนับสนุนการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ

การสร้างหลักประกันด้านยาทำให้เกิดนโยบายแห่งชาติด้านยาและบัญชียาหลักแห่งชาติขึ้นในพ.ศ. ๒๕๒๔ รวมทั้งมีการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory LicensingหรือCL) เพื่อจัดหายาในราคาที่เป็นธรรมตามนโยบายการเข้าถึงยา นอกจากการพึ่งยาแผนปัจจุบันแล้ว ยังมีความพยายามในการใช้ภูมิปัญญาไทยทั้งในเรื่องอาหารและยารวมไปถึงการแพทย์ เภสัชกรรม ผดุงครรภ์และการนวดไทยในการดูแลสุขภาพชาวไทยซึ่งมีการตื่นตัวมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ พ.ศ. ๒๕๒๐ นำไปสู่การตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข ใน พ.ศ.๒๕๔๕

สู่ศตวรรษที่สอง

45 ปี สธ. ณ วังเทวะเวสม์

โครงสร้างการบริหารจัดการงานสาธารณสุขมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆในพ.ศ.๒๕๑๕พ.ศ. ๒๕๑๗ และ พ.ศ. ๒๕๓๕และได้ปรับสถานะสถาบันสุขภาพจิต เป็นกรมสุขภาพจิตในพ.ศ. ๒๕๓๗ มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ก่อตั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อเน้นการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วน โดยมีงบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชนอย่างถ้วนหน้าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อบริหารจัดการและประสานงานด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (หรือ สรพ.) พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อพัฒนามาตรฐานและรับรองคุณภาพบริการของสถานพยาบาล และมีการเกิดขึ้นของหน่วยงานลักษณะใหม่ คือโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ โรงพยาบาลที่ถือเป็นโรงพยาบาลแรกตามแนวคิดดังกล่าว ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จัดตั้งใน พ.ศ. ๒๕๔๓

นอกจากองค์กรภาครัฐใหม่ๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในช่วง ๒-๓ทศวรรษที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้นทำให้มีองค์กรภาคประชาสังคม เช่น กลุ่ม ชมรม สมาคม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ มูลนิธิ และองค์การสาธารณประโยชน์ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพด้านการแพทย์ การสาธารณสุขต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานด้านการสาธารณสุขมูลฐาน การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การควบคุมการดื่มสุรา การคุ้มครองผู้บริโภค การดำเนินงานเรื่องเอดส์ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมทั้งงานด้านมนุษยธรรมและการรับมือภัยพิบัติต่างๆ

จากอดีตถึงปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้บริบทใหม่ๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ผนวกกับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ปัญหาภัยพิบัติ ความรุนแรงและการก่อการร้าย รวมทั้งผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสุขภาพ ล้วนแต่เป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญในการก้าวสู่ศตวรรษที่สองของการสาธารณสุขไทยวาระ ๑๐๐ ปีสาธารณสุขไทยที่จะมาบรรจบในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทบทวนประวัติศาสตร์และนำบทเรียนจากอดีตมาใช้เพื่อให้การก้าวสู่ศตวรรษที่สองของการสาธารณสุขไทย เป็นศตวรรษแห่งการสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพของประชาชนไทยอย่างแท้จริง

กระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน

รูปลักษณ์ของโรงพยาบาลสมัยใหม่ โดยมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมัย และการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนไทยอย่างต่อเนื่อง

จัดทำโดย หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เรื่องที่เกี่ยวข้อง