ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนไทยสูบบุหรี่สูง 10 กว่าล้านคน ตายปีละ 5 หมื่นคน ชวนเลิกก่อนเกิดโรค พบภาคเหนือผู้สูงอายุนิยมบุหรี่มวนใบตอง พร้อมเตือนระวังบุหรี่ไฟฟ้า ดึงดูดใจวัยรุ่นเข้าถึงง่าย ต้องระวังใกล้ชิด แนะใช้ พชอ.กลไกแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ ลดหวนสูบซ้ำ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ - ในการประชุมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 มี นพ.พงศ์ศักดิ์ โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 เป็นประธาน จัดโดยสมาคมหมออนามัย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย และภาคีเครือข่าย เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการฯในเขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำสาธารณสุขอำเภอ และผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัด จำนวน 30 คน

นพ.พงศ์ศักดิ์ โสภณ

นพ.พงศ์ศักดิ์ โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า ปัญหาเรื่องบุหรี่ที่เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ร้ายแรง เขตสุขภาพที่ 1 มีการทำงานที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนงานได้ดี ทำให้ผลงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ พิษภัยจากการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด ฯ มีผู้เสียชีวิตปีละ 5 หมื่นกว่าคน ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่มากว่า 10 กว่าล้านคน การที่โครงการฯนี้ ตั้งเป้าหมาย 3 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของคนสูบบุหรี่ทั้งประเทศ ถ้าสามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล

การมีฐานข้อมูลผู้สูบบุหรี่ ที่จะทำให้งานรวดเร็ว ตรงเป้าหมาย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ สามารถถ่ายทอดความรู้และชวนให้เลิกได้ การทำงานต้องอาศัยภาคีทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อน รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะช่วยสร้างกระแสการรับรู้จะเร็วมาก คนทำงานควรเป็นต้นแบบที่ดี ให้ยึดหลักการทำงานที่ว่า “สอนให้รู้ อยู่ให้เห็น เป็นให้ตาม” หากเลิกได้สุดท้ายประโยชน์อยู่ที่ประเทศชาติ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และลดปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ได้ในที่สุด

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์แนวโน้มอัตราการบริโภคยาสูบในปัจจุบันมีอัตราลดลง แต่กลุ่มนักสูบหน้าใหม่ไม่ลดลง แต่กลับเข้าถึงได้ง่ายเนื่องจากกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ซึ่งภาพรวม เขต 1 ทุกกลุ่มวัยมีแนวโน้มลดลง แต่กลุ่มวัยทำงานยังไม่ลด ดังนั้นโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯจึงเป็นโครงการที่จะเข้าช่วยหนุนเสริม อยากเน้นให้คนเลิกได้ ไม่ใช่แค่ชวนคนมาร่วม ต้องติดตาม ให้กำลังใจและเพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ เพื่อไม่ให้คนเลิกอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม เห็นคนสูบแล้วหวนกลับไปสูบซ้ำ

ปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเขตสุขภาพที่ 1 ก็มีปัญหาพอสมควรเพราะเข้าถึงง่าย ซึ่งตามกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามนำเข้า แต่เด็กเยาวชนก็ยังสามารถหาซื้อออนไลน์และสูบได้ ก็จะเกิดกระแสในกลุ่มวัยรุ่น เป็นแฟชั่น จึงต้องให้ความรู้กับผู้ปกครอง และครูในโรงเรียน ช่วยกันสอดส่องดูแลใกล้ชิด ควบคู่กับมาตรการควบคุมบุหรี่ คือ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งประเทศ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นพ.สสจ.เป็นเลขาฯ แต่ให้ยั่งยืนต้องเกิดชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนปลอดบุหรี่ มีมาตรการชุมชน ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญ ควบคู่กับการใช้กฎหมาย โครงการฯ นี้ เป็นโครงการที่สร้างกระแสและจุดประเด็นความสำคัญของการเลิกบุหรี่ ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะการเลิกบุหรี่ต้องบำบัดติดตาม 6 เดือนถึง 1 ปี ต่อไปต้องพัฒนาระบบริการ รองรับคนที่จะเข้ามาในระบบให้มีประสิทธิภาพ โครงการฯนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังจะต้องทำและขับเคลื่อนเพื่อให้มีคนเลิกบุหรี่ได้มากขึ้นต่อไป

นายทอง พันทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รักษาการตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่กลุ่มเสี่ยงมากสุดคือ กลุ่มเยาวชน การทำงานก็จะมีการเข้าไปขับเคลื่อน สร้างต้นแบบ และชวนเลิกบุหรี่ในสถานศึกษา ที่ผ่านมา อสม.ไปชวนคนเลิกบุหรี่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 30,500 คน แต่ตอนนี้ได้ประมาณ 5 % ทั้งนี้จังหวัดได้ขับเคลื่อนตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมเครือข่ายต่างๆ ซึ่งนโยบายลดบุหรี่จังหวัด คือ หากลดได้ 1 คน เท่ากับลดประชากรกลุ่มเสี่ยงได้อีกหลายคน เพราะคนเลิกจะไปชวนคนอื่นเลิกด้วย จึงต้องร่วมทำงาน อย่างเข้มข้น คาดว่าจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องขอให้กำลังคนทำงานทุกคน ให้ทำอย่างเต็มที่เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

นายอนันต์ ภัทรเดชมงคล นายอำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และกลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สูบมานานและเลิกยาก กลายเป็นวิถีชีวิตปกติ โดยเฉพาะบุหรี่ขี้โยหรือบุหรี่มวนใบตองที่ทางภาคเหนือนิยมสูบ ส่วนวัยรุ่นที่สูบมีปริมาณไม่มากนัก เพราะได้รับข่าวสารจากสื่อและช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับโทษ และพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ อำเภอได้มีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน และมีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขา ก็ ได้มอบนโยบายให้ อสม.ไปค้นหาผู้สูบ และไปชวนคนเลิก

ซึ่งเรื่องบุหรี่ได้ถูกบรรจุในประเด็นแก้ไขปัญหาสุขภาพพื้นที่ โรคไม่ติดต่อ หลายอำเภอพยายามผลักดันไปสู่ความสำเร็จ โดย พชอ.ถือเป็นองค์กรระดับอำเภอที่สำคัญ หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ และจะสิ้นสุดโครงการฯไปแล้ว ก็จะเคลื่อนงานต่อ ดึงคนที่ติดบุหรี่ให้เลิกสูบ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยที่ให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพประชาชนที่ต้องมีสุขภาวะดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง