ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สอจร.ห่วงอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ วอนคนขี่คนซ้อนมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อค หลังปี 61 พบมอเตอร์ไซค์เสียชีวิตร้อย 67.4 ช็อกไม่สวมหมวกกันน็อคร้อยละ 86 ด้าน สอจร. จับมือภาคีทั่วประเทศแชร์ประสบการณ์รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ชี้หากทำตามช่วยลดอัตราตายปีละ 5,000 คน

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวในงาน “สัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ” ว่า จากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ร้อยละ 74.4 สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และจากข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมีอำเภอเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 283 อำเภอ ส่งผลให้ตัวเลขภาพรวมของประเทศสูงตามไปด้วย สิ่งที่ต้องผลักดันคือการให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ โดยมีพี่เลี้ยง สอจร. เข้าไปสนับสนุนพัฒนาทักษะความรู้ และหาโอกาสเชื่อมโยงทุกหน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูลความร่วมมือระหว่างกัน

“ในช่วงเทศกาลสำคัญ การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นทั้งประเทศคือมาตรการที่จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างเห็นผลชัดเจนมากที่สุด หากคนไทยขี่มอเตอร์ไซค์ใส่หมวกกันน็อคทุกคน การเสียชีวิตบนท้องถนนจะลดลงถึงปีละ 5,000 คน จากจำนวนเฉลี่ย 20,000 กว่าคนทุกปี” นพ.วิทยา กล่าว

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า ทางรอดที่จะลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งประเทศได้ ทุกจังหวัดต้องมีเป้าหมายลดการบาดเจ็บเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ โดยอาศัยการกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง ประกอบกับการบังคับกฎหมายอย่างเข้มข้น เช่นการบังคับสวมหมวกนิรภัย การควบคุมความเร็ว การออกแบบเลนรถจักรยานยนต์ให้ครอบคลุม การบังคับให้ทำใบอนุญาตขับขี่ การบังคับตรวจสภาพรถ และการขยายระบบรถขนส่งมวลชนให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สิ่งที่ สอจร. เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือคนเมาแล้วขับในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์

“หนึ่งในมาตรการที่พี่เลี้ยง สอจร. ดำเนินการบนถนนสายรองที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกับถนนสายหลัก คือการเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนหมู่บ้าน อย่างเช่นการร่วมมือกับตำรวจภูธรจังหวัดจัดตั้งกองร้อยน้ำหวานจากสตรีในชุมชนที่มีจิตอาสา ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในการระงับเหตุความรุนแรง และดูแลพฤติกรรมขับขี่ไม่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลงานบุญสำคัญ ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในหลายจังหวัดภาคอีสานตอนบน” นพ.อนุชา กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถิติ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มากถึงร้อยละ 67.4 ในจำนวนนี้ร้อยละ 86 ไม่สวมหมวกนิรภัย ขณะที่ตัวเลขจากมูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พบว่าปี 2561 คนไทยใส่หมวกนิรภัยในช่วงเวลาปกติร้อยละ 46 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ร้อยละ 43 ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขขยับขึ้นไม่มากเป็นเพราะคนซ้อนร้อยละ 77 ยังมีพฤติกรรมไม่ใส่หมวกกันน็อค และเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้รถจักรยานยนต์และรถทุกชนิดให้ได้ผล สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ออกมาตรการควบคุมองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ทั้งในและนอกเวลางาน ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรประกาศตัวเป็นองค์กรสวมหมวกนิรภัย 100% แล้วจำนวน 314 องค์กร

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากการใช้ความเร็วเกินกำหนดและการเมาแล้วขับแล้ว คือสภาพถนนเปียก ที่ส่งผลให้รถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าช่วงเวลาปกติ มีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์จำนวนไม่น้อยพยายามหักหลบน้ำจนรถล้ม แต่การสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นกับศีรษะได้” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว