ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ย้ำใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ยั่งยืน เริ่มที่สถานพยาบาล ควบคุมและติดตามได้อย่างใกล้ชิด เผย 1 เดือน “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 12 ราย ผลปลอดภัย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาการดีขึ้น ลดอาการสั่นได้ผล แต่ทำความดันต่ำ แพทย์หยุดให้ยาชั่วคราว ประเมินวางแผนรักษาใหม่ สะท้อนปัญหาผลกระทบ แนะหากเปิดให้ประชาชนใช้กัญชาดูแลสุขภาพ ควรผ่านช่องทางผลิตภัณฑ์ ควบคุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การปลูกถึงระดับอุตสาหกรรม พร้อมหนุนตั้ง คกก.ขับเคลื่อน รมว.สธ.เป็นประธาน และคณะทำงานวิชาการสนับสนุนบนหลักฐานเชิงประจักษ์

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มี 3 ช่องทาง คือ 1.การใช้ในสถานพยาบาลท 2.เปิดให้ประชาชนปลูกและรักษาเบื้องต้น และ 3.พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยช่องทางที่ 2 แม้ว่าจะเห็นด้วยแต่ยังอาจมีปัญหาการบริโภคไม่เหมาะสม เพราะกัญชาถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดมานาน 40 ปี ขาดองค์ความรู้ในการใช้ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล และข้อกังวลผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยงสุขภาพ ทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีผลต่อพัฒนาการสมอง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการทางจิต เป็นต้น การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ยั่งยืนจึงควรเริ่มการใช้ในสถานพยาบาลก่อน

จากข้อมูล “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เริ่มดำเนินการในช่วง 1 เดือน มีคนไข้ 12 คนที่เข้ารับการรักษา จากการติดตามอาการและผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด พบว่ามีความปลอดภัยเพราะเราควบคุมให้ยาขนานต่ำ โดยในจำนวนนี้มีคนไข้โรคพาร์กินสันรวมอยู่ด้วย อาการสั่นมาก เรียกว่าสั่นจนล้มจากเก้าอี้ได้ เมื่อได้รับยาแล้วแม้ว่าอาการสั่นจะดีขึ้นมาก พบว่าในผู้ป่วย 1 รายทำให้ความดันลดลง จนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แพทย์ต้องหยุดใช้ยาชั่วคราวเพื่อประเมินและวางแผนปรับยารักษาใหม่ สะท้อนให้เห็นข้อควรระวัง กรณีนี้เป็นการใช้ในสถานพยาบาลที่ดูแลคนไข้ใกล้ชิด หากปล่อยให้มีการใช้ในชุมชนคงต้องมีการวางมาตรการที่ดีก่อน

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่า การจะเปิดให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชาด้วยตนเองนั้น มองว่ามีช่องทางที่ทำได้คือการทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับสมุนไพรอื่น เช่นกรณีที่มีการพูดถึงการปลดล๊อคกัญชง เพราะ CBD มีความปลอดภัยสูงโดยรัฐให้การส่งเสริมตั้งแต่การปลูกโดยเกษตรกรจนถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องศึกษาผลกระทบก่อน เปรียบเทียบด้านบวกและลบ พร้อมหาแนวทางเพื่อให้เกิดผลลบน้อยที่สุด ซึ่งประเทศไทยคงไม่ไปไกลถึงการเปิดให้ใช้เพื่อสันทนาการ แต่หากเปิดให้ประชาชนสามารถปลูกต้นกัญชาตามบ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในที่สุด

“อยากเสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาเลย ตอนนี้เรามีนักวิชาการเยอะมาก และกัญชาเป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อรัฐบาสนับสนุนควรพัฒนานโยบายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน หากการศึกษาชี้เป็นผลลบจะได้ยุติ ไม่เดินหน้า ทำให้ไม่สูญเสียทรัพยากร แต่ถ้าเป็นผลดีจะช่วยสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร จนถึงอุตสาหกรรมระดับประเทศ เช่น กรณีข้อเสนอการใส่โฟลิคในอาหารสำเร็จรูปของประเทศออสเตรเลีย เพื่อแก้ปัญหาเด็กทารกที่คลอดไม่ได้รับโฟลิคขณะอยู่ในครรภ์มารดา เป็นเหตุให้ทารกจำนวนหนึ่งเกิดภาวะสมองด้านหลังปิดไม่สนิท มีการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญ รวบรวมเอกสารข้อมูล สุดท้ายพบว่าใส่เติมโฟลิคในอาหารสำเร็จรูปไม่ปลอดภัยกับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ จึงได้ยุติข้อเสนอนี้ไป ซึ่งกรณีของกัญชาก็เช่นกัน”

ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้กระแสความสนใจและต้องการใช้กัญชามาแรงมาก ตรงนี้จะทำอย่างไร ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า วารสารต่างประเทศเขียนไว้ว่า เรื่องกัญชาจะสำเร็จหรือไม่ การรับรู้ของสังคม ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้ประชาชน และรัฐบาลเองรีบเร่งให้ความรู้ประชาชนทุกกลุ่ม มีการเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ถูกต้องต้องมาจากภาครัฐเท่านั้น ไม่แต่เฉพาะกัญชาแต่รวมถึงสมุนไพรอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน โดยเริ่มที่กัญชาให้เป็นโมเดลของสมุนไพรอื่นต่อไป

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งรัดให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด เช่น การนำกัญชาของกลางมาใช้ประโยชน์ สกัดด้วย เครื่อง Super critical fluid extraction ซึ่งเครื่องนี้ไม่ได้มีแต่ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แต่มีทั้งที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการควบคุมคุณภาพ และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชานี้ได้ โดยเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นที่สุดก่อน เช่น ผู้ป่วยโรคทางสมองที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สถานพยาบาลในสังกัดขออนุญาตใช้ยากัญชาแล้ว รวมทั้งมีการอบรมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล แพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ในการสั่งจ่ายและดูแลผู้ป่วย

“แม้ว่ากัญชาจะมีการใช้และรู้จักในบ้านเรามานาน แต่ในอดีตเรากิน 2-3 ใบ หรือเข้าตำรับยาที่ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น การนำมาสกัดให้ได้สารเข้มข้นจึงถือเป็นยาใหม่ที่ต้องมีการใช้อย่างระมัดระวัง เพราะหากใช้ไม่เหมาะสมอาจส่งผลข้างเคียงได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงอยากให้เริ่มต้นใช้ในสถานพยาบาลก่อน โดยทำให้ยากัญชามีคุณภาพ ประสิทธิผลก่อน รวมถึงความปลอดภัย แล้วจึงเปิดใช้อย่างกว้างขวาง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับนโยบายของ รมว.สาธารณสุขให้ อสม.ปลูกกัญชานำร่อง ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า เท่าที่ฟัง รมว.สาธารณสุข ท่านเน้นย้ำว่า การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ต้องได้ประโยชน์สูงสุด ไม่มีผลข้างเคียงและผลกระทบด้านลบ ซึ่งท่านมีนักวิชาการรายล้อมคงต้องรับฟังและศึกษาผลกระทบก่อน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ อสม.นำร่องปลูกกัญชานั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการก่อน รวมถึงจัดทำชุดความรู้ที่ถูกต้อง เพราะวันนี้ อสม.เองยังไม่รู้ว่าจะกินและใช้กัญชาอย่างไร รักษาโรคอะไรบ้าง และในกรณีที่ปลูกที่บ้านและมีเยาวชนแอบเก็บไปใช้ตรงนี้จะทำอย่างไร อาจต้องศึกษาข้อมูลในต่างประเทศว่าเขามีวิธีบริหารจัดการอย่างไรเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เชื่อว่าเรื่องนี้ท่านยังคงไม่รีบเร่ง และเน้นไปที่การใช้ผ่านแพทย์ 3 แผน (แผนปัจจุบัน แผนไทยและแผนพื้นบ้าน)

ส่วนที่มีข้อเสนอให้นำระบบ SAS (Special access scheme) มาใช้กับกัญชาเพื่อดูแลผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า มีการทำในบางประเทศ เช่นที่ออสเตรเลียเพื่อการสั่งจ่ายยาที่แพทย์มองว่าผู้ป่วยควรได้รับ แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน โดยเปิดให้นำยาหลากหลายรูปแบบมาใช้ แต่จากที่ตนเองทำงานอยู่ในโรงพยาบาล มองว่าเวลาเราเตรียมยาให้ผู้ป่วยจะต้องมีระบบประกันคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่ายาปลอดภัยและมีประสิทธิผลก่อนที่จะจ่ายให้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งออกมาตรฐานกัญชาโดยเร็ว

ขณะที่ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องกัญชาโดยเฉพาะนั้น มองว่าต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.จัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย เป็นการรวมศูนย์เพื่อบริหารจัดการ ทำให้การกระจายยาไปถึงประชาชน ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทั้งหมด และ 2. คณะทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง โดยมีความเป็นอิสระจากการเมืองเพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักเมื่อต้องเปลี่ยนรัฐบาล ทั้ง 2 คณะจะทำงานเชื่อมโยงกัน ไม่ขัดแย้งกัน

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนทำเรื่องสมุนไพรตั้งแต่เรียนจบมา 18 ปีแล้ว ต้องบอกว่าประเทศไทยไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะในอาเซียน เรามีสมุนไพรมากมายและได้ผลดี ทั้งมีความปลอดภัยอยู่มาก จึงอย่าพุ่งเป้าแต่เฉพาะกัญชาเท่านั้น ซึ่งในเรื่องกัญชานั้นเราคงไม่สามารถนำมาใช้ในการเปิดประโยชน์ในทุกช่องทาง เนื่องจากเรามีทรัพยากร คน เงิน ของจำกัด แต่ต้องพิจารณาทำเรื่องเร่งด่วนก่อน โดยพิจารณาจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีความพร้อมมากที่สุด โดยมองผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบอย่างรอบด้าน เพื่อที่เราจะได้ประโยชน์จากกัญชาที่ยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง