ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1.ครม.ยังไม่เคาะงบบัตรทอง เตรียมถก 8 พ.ค.นี้ แต่บอร์ด สปสช.ยืนยันตัวเลข 2,939.73 บาทต่อคน

มีข่าวจากการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า มีการนำ​เสนองบประมาณ​เหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2556 ซึ่งเดิม สปสช.​ได้นำ​เสนอ​ไป เมื่อวันที่ 11 ​เมษายน 2555 ที่อัตรา 2,939.73 บาทต่อคน ​แต่​เมื่อนำ​เสนอ​เข้าครม.​เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 กลับอยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อคน ​ (ซึ่ง​เป็นงบที่​ได้​เท่ากับงบถูกตัดหลังจากน้ำท่วม​ในปี 2555)  งบประมาณลดลง  141 บาทต่อหัว  หรือลดลง 4.9 % และลดงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง   6.3 %  อย่างไรก็ตามจะมีการนำงบประมาณรายหัวเสนอ ครม.อีกครั้ง​ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556  ​ซึ่งจะ​เป็น​การพิจารณา​ในรายละ​เอียด

​ทั้งนี้ หากปี 2556 ​ได้งบประมาณที่ 2,755.60 บาทต่อคนจริง จะส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนอย่าง​แน่นอน ​เพราะอนุกรรม​การด้าน​การ​เงิน​การคลัง​ฯ ได้คำนวณค่า​ใช้จ่ายที่ปรับ​เพิ่ม คือ 1.​การ​เพิ่มค่า​แรงตามน​โยบายรัฐบาล 300 บาท ​และ​การปรับ​เพิ่ม​เงิน​เดือนปริญญาตรี 15,000 บาท 2.​การว่าจ้างพยาบาลภาค​ใต้​เพิ่ม​เติม 3,000 คน ​และจะมี​การบรรจุ​เพิ่ม​เติม​ในปี 2555 ​โดยรวม 2 ส่วนนี้ประมาณ​การค่า​ใช้จ่าย​เพิ่ม​เติมอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท

2.สัมมนา สผพท. เสนอยุบ สปสช. - ปรับบัตรทอง แก้ปัญหา”หมอเหนื่อย-รพ.ล้น”

จากการที่สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)  จัดสัมมนามาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขประเทศไทย โดยมีตัวแทนแพทย์ คนไข้ นักวิชาการสาธารณสุขเข้าร่วม เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สผพท. ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้เกิดปัญหามากมายในแวดวงสาธารณสุข  และ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์รพ.พระนั่งเกล้า เสนอว่าควรยุบ สปสช. ไปรวมกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะ สปสช. เป็นได้แค่นายหน้าทางการแพทย์ การสร้างมาตรฐานสาธารณสุขต้องแก้ที่โครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียว

ในขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ แพทย์โรงพยาบาลจ.สุรินทร์ กล่าวว่า อยากให้สปสช.ทำหน้าที่เพียงแค่ตรวจสอบดูมาตรฐานผลกระทบ ไม่ต้องถือเงิน ไม่ต้องซื้อยาให้เรา แต่ให้เขตแต่ละจังหวัดบริหารเงินเอง และต้องมีการปรับระเบียบบัตรทองโดยให้ประชาชนร่วมจ่ายเงิน เพื่อให้ยารักษาผู้ป่วยมีคุณภาพ ให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการบัตรทองจำกัดการใช้จำนวนครั้งต่อปี ไม่ใช่ตามใจฉันอยากมาเมื่อไหร่ก็ได้ และควรจำกัดเวลาโดยให้ผู้ป่วยทั่วไปมาได้เฉพาะกลางวัน  ไม่ใช่อยากมาเมื่อไหร่ก็มา แพทย์พยาบาลก็รับไม่ไหว แต่สำหรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3.คัดค้านการใช้ DRG Version 5 

หลังจากที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้ออกประกาศวันที่ 1 เมษายน 2555 แจ้งให้โรงพยาบาลที่ทำสัญญากับทุกกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคมและข้าราชการ(กรมบัญชีกลาง)ให้ใช้ DRG version 5 จึงมีกระแสข่าวว่าโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง มีการหารือกันเพื่อเสนอให้ สปสช. ระงับการใช้ DRG version5  และทาง สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.  (สพศท.) ได้มีหนังสือขอให้ระงับการใช้ DRG version 5 ถึง ประธานกรรมการ สปสช. และ กรรมการ สปสช. ทุกท่าน เนื่องจากเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า DRG เวอร์ชั่นใหม่นี้มีการเปลี่ยนค่าคะแนนรายโรคทุกโรค โดยเกือบทั้งหมดคะแนนจะลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีโรคร่วมโรคแทรกซ้อนหลายโรคคะแนนยิ่งลดลงมากกว่า 50% ทั้งที่การรักษาต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรมากขึ้น อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ต่างก็ใช้ DRG ร่วมกับ สปสช. แต่งบของกองทุนสองแห่งนี้เป็นงบปลายเปิด และจ่ายค่ารักษาตามคะแนนของ DRG จึงมีผลทำให้ผู้รักษาได้รับค่ารักษาจากทั้งสองกองทุนน้อยลงมาก ล่าสุด  สปสช. ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้โดย รองเลขาธิการ สปสข. และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ  ระบุว่า DRG version 5 ได้ผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีความเหมาะสมที่จะใช้มากกว่าเวอร์ชั่นเดิม

4.ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย อย่าตื่นตระหนกกับมาตรการพิเศษ 301 ของสหรัฐฯ

สืบเนื่องจากช่วงก่อนวันครบรอบการก่อตั้งของกรมทรัพย์สินฯ  สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯจะออกรายงานมาตรการพิเศษ 301 (Special 301 Report) ประจำปี ปรากฎว่า ปีนี้ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ  PWL (Priority Watch List) เช่นเดียวกับอีก 12 ประเทศ และถูกกล่าวหาว่า “ด้อยประสิทธิภาพ” ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ  โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลังจากที่ไทยนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือมาตรการซีแอล มาใช้เพื่อลดราคายาจำเป็น เช่น ยารักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคมะเร็ง โดยนำเข้ายาชื่อสามัญในราคาที่ถูกกว่าแต่มีคุณภาพเทียบเท่ามาจากอินเดียมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทริปส์ และกฎหมายสิทธิบัตรของไทย และประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ ก็นำมาใช้เช่นกันเป็นเรื่องปกติ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯเอง

ในปีนี้มีข้อเรียกร้องใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง หรือ ACTA (Anti-counterfeiting Trade Agreement) สหรัฐฯ ไม่ได้พูดตรงๆ ในรายงาน แต่พูดว่าไทยต้องปรับปรุงเรื่องสินค้าปลอมแปลง  นัยสำคัญของเรื่องนี้ คือ ยาชื่อสามัญที่ปลอดภัยและมีคุณภาพจะถูกเหมารวมว่าเป็นยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ ได้ง่ายๆ แม้เพียงแค่ต้องสงสัย และจะถูกยึด ส่งกลับ หรือทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาหรือทรัพย์สินทางปัญญา  นอกจากนี้ ยังให้อำนาจสามารถยึดจับยาที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ทั้งๆ ที่ยาดังกล่าวไม่มีสิทธิบัตรในประเทศต้นทางและปลายทาง  ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการละเมิดข้อตกลงทริปส์และขัดขวางการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา  

5.กรณียาซูโดอีฟริดีน

ประเด็นการสอบสวนกรณีการหายไปจากระบบของยาซูโดอีเฟรดีน ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งย้าย นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ  เข้าไปช่วยราชการที่กระทรวงแล้ว ด้วยเหตุผลแม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่มีหน้าที่กำกับดูแล  และสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง จนกว่าการสอบสวนในพื้นที่จะแล้วเสร็จจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ต่อไป

ในขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกตำรับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2555 โดยคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่ประสงค์จะใช้ยาดังกล่าว และไม่มีใบอนุญาตครอบครองฯ รวมทั้งร้านขายยาทุกแห่งต้องส่งยาดังกล่าวคืนแก่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 พ.ค. 2555   และ อย.ไม่ขยายเวลาการส่งคืนยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน สำหรับจำนวนผู้ส่งคืนยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีน ยอดรวม ณ วันที่ 4 พ.ค. 2555 รวมปริมาณ 20,780,925 เม็ด/แคปซูล ยาน้ำ 11,713,120 มิลลิลิตร

6.การแสดงสิทธิการตาย ช่วยลดภาระ “ผู้ป่วย ญาติ รพ.และ ประเทศชาติ”

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย และ สมาคมข้าราชการบำเหน็จบำนาญกระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมการใช้สิทธิตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  นพ.วิชัย โชควิวัฒน นายกสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันเรื่องมาตรา 12 สิทธิ การตาย อาจเพิ่งเกิดขึ้น แต่ในอดีตมีการกำหนดเรื่องสิทธิดังกล่าว โดยการเลือกสั่งลาด้วยตนเองมาก่อน แล้ว แค่ไม่มีกฎหมายมารองรับเท่านั้น แต่ในวันนี้มี กม.มารองรับแล้ว เพื่อยืนยันว่า แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ไม่ได้ส่วนผิดต่อการสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างญาติและแพทย์ เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ของของผู้ป่วยเอง และยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมานกับอาการของโรค  ไม่เป็นภาระแก่ญาติ ที่ต้องเฝ้าดูแลและแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา  โรงพยาบาลก็จะได้ลดภาระในการรักษา  และ ทำให้ประเทศชาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกระแสคัดค้านสิทธิการตายก็มีจาก กลุ่มของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณายกเลิกเพิกถอนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ "สิทธิการตาย"โดยระบุว่า ทุกคนมีเสรีภาพที่จะประกาศไว้ล่วงหน้าได้ว่า ไม่ประสงค์ที่จะรับการรักษาที่เป็นแค่การ "ยื้อ"ชีวิต  แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็คือกฎกระทรวงที่จะ "บังคับ" ให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตามนั้น มันไม่เหมาะสม และไม่รัดกุมพอในการพิสูจน์เมื่อเกิดปัญหาระหว่างเครือญาติของผู้ป่วยที่ตาย ไปแล้ว เป็นการผลักภาระความรับผิดชอบให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย มากเกินส่วน จนอาจเสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยในศาลได้

ในขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมว่า ศาลอังกฤษได้ตัดสินคดีตัวอย่างครั้งประวัติศาสตร์ โดยตัดสินให้นายโทนี่ แบลนด์ ผู้ป่วยอาการโคม่า มีสิทธิที่จะตายได้ ด้วยการถอดเครื่องช่วยหายใจ หากกระพริบตา โดยเขาไม่สามารถพูดหรือเขียนได้เนื่องจากป่วยด้วยอาการทางสมอง และครอบครัวของเขาต้องการให้เขาได้ลาโลกโดยไม่ต้องทรมาน ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ และถือเป็นการตอบรับอำนาจทางกฎหมายของกฎหมายความสามารถทางสุขภาพจิต ปี 2005 ซึ่งนักวิจารณ์โจมตีว่า ได้เปิดทางให้เกิดรูปแบบของการ "การุณยฆาต" ของกฎหมายอังกฤษได้

7.สธ.ถกนโยบาย "1 หมอ 1 ร.พ.สต." พัฒนาศักยภาพบริการ ปชช.

นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป แพทย์ที่ปรึกษาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ร.พ.สต.) และศูนย์สาธารณสุขชุมชนเมืองและผู้แทน ร.พ.สต.1,500 คน ในการพัฒนาบริการของสถานพยาบาลที่อยู่ในชุมชนใกล้บ้านประชาชนที่สุดคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตามนโยบาย 1 หมอ 1 รพ.สต.  โดยในปี 2555   กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหมอประจำ รพ.สต.1,000 แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 228 แห่ง เพื่อเป็นหมอประจำครอบครัวรุ่นแรกจำนวน 1,000 คน รับผิดชอบดูแลประชาชน 12 ล้านครัวเรือน ในโครงการ "สานต่อ คืนหมอครอบครัว ประจำตัวทุกครัวเรือน 1,000 แรก 1,000 โอกาส 1,000 สำเร็จ" คาดว่าจะสามารถจัดแพทย์ประจำ ร.พ.สต.ครบทั้ง 9,750 แห่ง ดูแลทุกครอบครัวทั่วไทย ภายในปี 2565

8.เครือโรงพยาบาลเอกชนสยายปีก เข้าไปในตลาดหุ้น เพิ่มธุรกิจโรงแรม รองรับเปิดเสรีอาเซียน

นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ เปาโล พญาไทย สมิติเวช และบีเอ็นเอช เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจเข้าลงทุนธุรกิจในประเทศพม่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามความชัดเจนด้านนโยบายการลงทุนของรัฐบาลพม่า ว่าจะมีทิศทางใด รวมถึงนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคเอกชนด้วย และบริษัทยังได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทกรุงเทพ-เชียงใหม่ ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพื่อวางแผนการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในหัวเมืองใหญ่ นำร่องที่ จ.เชียงใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการภายใน 1-2 เดือนนี้

นอกจากนี้โรงพยาบาลมีแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ด้านสุขภาพ รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะเกิดการหลั่งไหลเข้ามารักษาสุขภาพ และรักษาพยาบาลในประเทศไทยจำนวนมาก 

ในขณะที่หุ้นเครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล มีกระแสตอบรับแรงตามคาด บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย หุ้นสามัญเพิ่มทุนของเครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล (VIH) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ในวันที่ 30 เมษายน และ 2 พฤษภาคม 55 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเข้ามามากกว่าจำนวนหุ้นที่นำออกจำหน่ายอย่างมาก สำหรับนักลงทุนที่พลาดหวังจากการจองซื้อ ได้แสดงความสนใจจะเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันซื้อขายหุ้นวันแรกของ VIH ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 55 นี้

ทั้งนี้ เครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 535 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 535 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้วก่อน IPO 400 ล้านบาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในครั้งนี้ 135 ล้านหุ้น โดยกำหนดราคาขายหุ้นละ 1.25 บาท