ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1.รายงานข่าวจากเวบไซต์ thaitrl กรณีการสรรหาเลขาธิการ สปสช.

หลังจากที่บอ์รด สปสช. มีมติ เลือก นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นเลขาธิการ สปสช. ในสมัยที่สอง ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อคัดเลือกนั้น นพ.ธงชัย ซึงถาวร ผู้สมัครเลขาธิการ สปสชได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ คณะกรรมการสรรหา ต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่  11  เดือน พฤษภาคม  2555  ว่ากระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม เนื้อหาสำคัญของคำฟ้อง โดยขอให้ยกเลิกการเป็นกรรมการสรรหาของ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ซึ่งเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นกรรมการสรรหา เพราะถือว่าเป็นผู้มีมีส่วนได้เสีย และยกเลิก เพิกถอนมติของผู้คณะกรรมการสรรหา ที่เลือก นพ.วินัย สวัสดิวร นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล  และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ  เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ชัดเจน แต่ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งชะลอและหรือระงับการพิจารณา และมีมติในการทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งบุคคลเป็นเลขาธิการ สปสช.  ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด 

ทั้งนี้ศาลปกครองกรองได้รับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555   และให้มีการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อยับยั้งมตินี้  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และคณะ สผพท.  กับ พญ..ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. เป็นพยานให้ข้อเท็จจริง  ส่วนฝ่ายบอร์ด  สปสช. ส่ง ผอ.สำนักกฎหมาย และคณะ ไปชี้แจง

2. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเตรียมยื่นจดหมายให้นายกรัฐมนตรีนำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้าโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแถลงจุดยืนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และเสนอรัฐบาลเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำโรคมะเร็ง ควบคู่กับการที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดความเหลื่อมล้ำโรคไต และโรคเอดส์ ในระยะต่อไป เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการตายสูงสุด 1 ใน 5 ของคนไทย ขณะที่สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน ทั้งสิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงินให้ รพ. ยาที่ได้รับ หากรัฐบาลทำให้สิทธิประโยชน์โรคมะเร็งทั้ง 3 กองทุนเหมือนกัน จะมีประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกร้องให้นำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยังไม่สามารถรวมการบริหารจัดการกองทุนผู้ประสบภัยจากรถเข้ามาได้ ทำให้ประชาชนและหน่วยบริการยังประสบความยุ่งยากในการเบิกจ่ายเช่นเดิม ผู้ป่วยบางรายยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ขณะเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับการเรียกการเก็บเงินจากประชาชน 30 บาท เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย และทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลยากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.เคยพูดว่า จะต้องพัฒนาระบบริการคุณภาพก่อนจึงจะเก็บเงิน 30 บ.ดังนั้น ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าได้พัฒนาคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหาคุณภาพการเข้าถึงบริการอีกมาก จึงไม่ควรเก็บเงิน     

3. กรณีมีหนังสือจากกรมสนับสนุนบริการห้ามบริษัทเอกชนเปิด hemodialysis ในโรงพยาบาลรัฐ 

จาก http://www.thaiclinic.com กระทู้แจ้งว่าโรงพยาบาลหนังสือจากกรมสนับสนุนบริการ แจ้งว่าขอให้โรงพยาบาลห้ามบริษัทเอกชนเปิด ให้บริการบำบัดทดแทนไตแบบฟอกเลือด (hemodialysis) ในโรงพยาบาลรัฐ  เนื่องจากขัดเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสถานบริการของรัฐ ซึ่งมีผลสุ่มเสี่ยงต่อการให้บริการประชาชนที่ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด เพราะเครื่องของทางโรงพยาบาลไม่เพียงพอ  

4. กระแสข่าวการแต่งตั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่

จากการติดตามบทวิเคราะห์ข่าวจากสื่อสำนักต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขมีการวิ่งเต้นเพื่อให้ผลงานเข้าตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นไปด้วยความดุเดือด มีการชิงความได้เปรียบกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ถูกระบุว่ากำลังทำคะแนนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตำแหน่งคือ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมามีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ทั้งในระดับผู้ตรวจราชการ และ นายแพทย์สาธารณสุข หลายท่าน

5.สธ.ทำสำเร็จการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง

จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง ผิวหนังหลุดลอก พุพองทั่วร่างกาย 2,000-3,000 ราย ในจำนวนนี้บางรายถึงขั้นตาบอดและเกือบเสียชีวิต ที่ผ่านมา สธ.จึงให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาวิจัยพัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง หรือที่เรียกว่า "เภสัชพันธุศาสตร์" ได้เริ่มศึกษาการตรวจวิเคราะห์แพ้ยา 3 ชนิด ได้แก่ ยา Carbamazepine (ยากันชัก) ยา  Allopurinol (ยาลดกรดยูริกในเลือด) และยา  Abacavir (ยาต้านไวรัส) ที่มีผู้ใช้มากและมีอัตราการแพ้ยา

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาในชาวเอเชียและชาวไทย พบว่าพันธุกรรม HLA-B*1502 อัลลีล เป็นปัจจัยเสี่ยงแพ้ยากันชัก พันธุกรรม  HLA-B*5801 อัลลีล เป็นปัจจัยเสี่ยงแพ้ยาลดกรดยูริกในเลือด และพันธุกรรม HLA-B*5701 อัลลีล ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในคนเอเชีย โดยการตรวจพันธุกรรมเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการแพ้ยา ที่เป็นการป้องกันและสร้างความมั่นใจในการสั่งจ่ายยาให้กับแพทย์

การตรวจสารพันธุกรรมแพ้ยานี้เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงมาก หรือเกือบ 100% ทำให้แพทย์สามารถเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นแทนได้ลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วย รวมถึงการเสียชีวิต เพิ่มความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมวิทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดให้บริการตรวจแก่ รพ.แล้ว

6. ศิริราชใช้เทคโนโลยีนาโนรักษามะเร็งปากมดลูกโดยไม่ต้องตัดมดลูกสำเร็จ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า ทีมวิจัยศิริราชประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกโดยสามารถรักษามดลูกเอาไว้ได้ ไม่ต้องตัดทิ้งทั้งหมดแบบเดิม ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกในความเป็นผู้หญิง และบางคนยังสามารถมีลูกได้ โดยรักษาแบบใหม่ที่ใช้กล้องช่วยผ่าตัด ซึ่งนอกจากทำให้มีแผลเล็ก เจ็บน้อยและฟื้นตัวได้เร็วแล้ว ผู้ป่วยยังมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 90-95 รวมทั้งกลับมามีบุตร มีชีวิตครอบครัวได้ตามปกติอีกด้วย.

ทั้งนี้การรักษาด้วยเทคโนโลยีนาโนเป็นหนึ่งในการรักษาแบบทาร์เกท เธอราพี (Target Therapy) หรือการรักษาแบบพุ่งเป้า สำหรับการวิจัยเรื่องการรักษามะเร็งปากมดลูกโดยใช้เทคโนโลยีนาโน จะใช้อนุภาคนาโนเข้าไปจับเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะทำให้สามารถฆ่าเฉพาะเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำคีโมหรือการผ่าตัดนั้นเป็นการทำลายเนื้อเยื่อทั้งดีและไม่ดีไปพร้อมกัน แม้ให้ผลดีแต่ร่างกายผู้ป่วยจะอ่อนแอลง ถ้าใช้เทคโนโลยีสามารถเลือกทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเฉพาะจุดได้ ผู้ป่วยก็จะได้ประโยชน์ โอกาสที่จะหาย ฟื้นตัวได้เร็วมีมากกว่า

7. สธ.ไม่ง้อ ก.พ.เล็งยกระดับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวง แทนบรรจุข้าราชการ  

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงได้หาแนวทางการแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข โดยเสนอปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรต่อ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และขอให้เปิดบรรจุเพิ่มเติมในตำแหน่งข้าราชการ กระทั่ง ก.พ.ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ประมาณ 2,400 ตำแหน่งในส่วนของ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร แล้วนั้น ขณะนี้ยังต้องเร่งดำเนินการต่อในเรื่องการแก้ปัญหาลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมีอยู่กว่า 31,000 คน ที่ยังไม่ได้ตำแหน่งทางราชการ โดยแผนในการแก้ปัญหาหลัก คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างจำนวนดังกล่าว ให้ดีขึ้นเทียบเท่าข้าราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้ สธ.ได้กำหนดแผนไว้ว่า จะจ้างงานในรูปแบบของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่หลังจากการรับฟังปัญหาเพิ่มเติมจากภาคท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ ทราบว่า ยังมีบุคลากรหลายท่าน มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีพอ และมีสวัสดิการยังไม่ดีเมื่อเทียบกับภาระงาน ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากการที่ได้หารือกับสภาวิชาชีพ ทุกด้านในเรื่องของการจ้างงานนอีก 5 ปี ข้างหน้า คือ ปี 2560 นั้น เบื้องต้นมีข้อเสนอเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมของสภาวิชาชีพ ว่า ต้องการบุคลากรแพทย์ทั่วไปในอัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,000 คน พยาบาล 1 คนต่อประชากร 550 คน และเภสัชกร 1 คนต่อประชากร 8,000 คน ซึ่งกระทรวงได้ทำต้นร่างรูปแบบการจ้างงานเสร็จแล้ว ยังเหลือแค่การทำประชาพิจารณ์กับทุกสภาวิชาชีพ เท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้

8. คณะนักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาตับมนุษย์ที่ทำงานได้จริงจากเซลล์ต้นกำเนิด (สเตมเซลล์)

หนังสือพิมพ์โยมิอูริชิมบุนรายงานว่า คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยโยโกฮามาได้นำไอพีเอสเซลล์ (induced pluripotent stem) ซึ่งเป็นสเตมเซลล์จากเซลล์เจริญวัยเต็มที่แล้วมาเปลี่ยนให้มีคุณสมบัติเหมือนสเตมเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ ไปปลูกถ่ายบนหัวของหนูทดลอง เพื่อใช้ประโยชน์จากปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น เซลล์ดังกล่าวได้เติบโตขึ้นเป็นตับมนุษย์ ขนาด 5 มิลลิเมตร ที่สามารถผลิตโปรตีนมนุษย์และย่อยยาได้เหมือนตับจริง

ผลงานนี้กรุยทางไปสู่การสร้างอวัยวะสำรองให้มนุษย์ แก้ปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะเพื่อใช้ในการปลูกถ่าย ทั้งนี้ ไอพีเอสเซลล์ค้นพบโดยคณะนักวิจัยในสหรัฐฯและคณะนักวิจัยในญี่ปุ่น โดยต่างแยกค้นพบเมื่อปี 2006 ช่วยแก้ปัญหาการใช้สเตมเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ที่ถูกบางกระแสต่อต้านว่าผิดศีลธรรม

9. จับชีพจร 'เฟซบุ๊ค' คาดดับสลายใน 10 ปี

"อีริค แจ็คสัน" ผู้ก่อตั้งไอรอนไฟร์ แคปิตอล กล่าวว่า เฟซบุ๊คจะเสียความโดดเด่นในฐานะบริษัทอินเทอร์เน็ตที่สำคัญไปภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับยาฮู ที่แม้ยาฮูยังคงทำเงินได้ ยังมีกำไร ยังมีพนักงาน 13,000 คน แต่บริษัทมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าสูงสุดของบริษัทเมื่อปี 2543  เพราะหุ้นของเฟซบุ๊คดิ่งลงราว 32% จากราคาหุ้นไอพีโอ ซึ่งอยู่ที่ 38 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่งผลให้เป็นการขายหุ้นไอพีโอที่ขาดทุนมากที่สุดภายในเวลา 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และราคาหุ้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีดขึ้นแต่อย่างใด

แจ็คสัน อธิบายว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตมี 3 รุ่นด้วยกัน รุ่นแรก คือ เวบพอร์ทัลขนาดใหญ่ อาทิ ยาฮู ที่เนื้อหาทั้งหมดถูกรวมไว้ในที่เดียวกัน รุ่นที่สอง คือ เวบเครือข่ายสังคม อย่างเฟซบุ๊ค และรุ่นที่สาม คือ บริษัทที่เน้นสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มพกพา ที่เฟซบุ๊คยังไม่มีและต้องพยายามอย่างมากที่จะทำให้ได้ เช่น กูเกิล ที่พยายามอย่างหนักเพื่อเข้าสู่ตลาดเวบเครือข่ายสังคม และ เฟซบุ๊คเองก็กำลังจะเจอกับความท้าทายแบบเดียวกันในการเข้าสู่ตลาดอุปกรณ์พกพา (มือถือ tablet ฯลฯ)