ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มติชน 26 พ.ค. 55-ผลการศึกษาประเทศอุตสาหกรรม 13 แห่ง ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขน้อยที่สุด ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้มากที่สุด โดยที่ไม่ได้ให้ระดับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายไป

สหรัฐใช้เงินเกือบ 8,000 ดอลลาร์ (ราว 250,000 บาท) ต่อคน สำหรับการให้บริการด้านสาธารณสุข ในปี 2552 มากกว่าออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์

รายงานของกองทุนคอมมอนเวลธ์ มูลนิธิเอกชนที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขในสหรัฐระบุว่า ญี่ปุ่นใช้เงินงบประมาณจัดการระบบสาธารณสุขน้อยที่สุดที่ 2,878 ดอลลาร์ (ราว 90,000 บาท) ต่อคน ในปี 2551

งบประมาณที่สหรัฐใช้จ่ายสำหรับระบบสาธารณสุข เมื่อปี2552 คิดเป็นมากกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ญี่ปุ่นใช้งบสาธารณสุข คิดเป็นไม่ถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีเท่านั้นครับ

รายงานระบุว่า "ญี่ปุ่นใช้ระบบคิดค่าบริการตามรายการและอัตราที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ ขณะที่ให้บริการโดยไม่จำกัดการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและสถานพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งยังมีอุปกรณ์อย่างเครื่องตรวจด้วยการสร้างภาพเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) และเครื่องถ่ายภาพส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) ให้บริการเป็นจำนวนมาก"

"แทนที่จะจำกัดค่าใช้จ่ายโดยการกำหนดขอบเขตของการให้บริการ ญี่ปุ่นใช้วิธีจัดตั้งงบประมาณเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลรักษาสุขภาพทั้งหมดภายใต้งบประมาณที่มีการจัดสรรจากรัฐบาล ขณะที่ระบบของสหรัฐเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบากจากราคาที่เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และการแพร่หลายมากยิ่งขึ้นของโรคอ้วน" รายงานระบุ นอกจากนี้ สหรัฐยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดและโรคเบาหวานที่นำไปสู่การต้องตัดอวัยวะที่จริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้สูงที่สุด และมีอัตราการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย และโรคเส้นเลือดในสมองแตกในโรงพยาบาลในระดับที่ไม่น้อยเลย

ยาที่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ในสหรัฐ มีราคาแพงกว่าถึงราว 33 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับในแคนาดาและเยอรมนี และแพงกว่าในออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ถึงเกือบเท่าตัว

เดวิด สไควร์ส นักวิจัยอาวุโสของกองทุนคอมมอนเวลธ์ ผู้เขียนรายงานฉบับนี้บอกว่า เป็นสมมติฐานที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ชาวอเมริกันได้รับบริการด้านสาธารณสุขดีกว่าประชาชนในประเทศอื่นๆแต่ในความเป็นจริงแล้วชาวอเมริกันไม่ได้พบหมอหรือว่าเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งนัก

"คำอธิบายในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าสำหรับการดูแลสุขภาพ บางทีอาจจะมาจากการใช้เทคโนโลยีที่แพงมากกว่าในสหรัฐ แต่โชคร้ายที่ดูเหมือนเราจะไม่ได้รับคุณภาพที่ดีกว่าสำหรับการจ่ายแพงกว่า" สไควร์สบอกกองทุนคอมมอนเวลธ์ระบุว่า ข้อมูลที่ใช้ในผลการศึกษาชิ้นนี้มาจากองค์การร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) รวมถึงจากแหล่งอื่นๆด้วยครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง