ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ในการประชุมเวิลด์ อิโคโนใค ฟอรัม หัวข้อ "Escape from Poverty" ว่าด้วยมาตรการที่จำเป็นสำหรับลดความยากจนในเอเชียตะวันออก นายจอห์น แมคอาเธอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิสหประชาชาติ ระบุว่า ข่าวดีตอนนี้คือสถานการณ์ต่อสู้กับความยากจนขั้นรุนแรงเริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 และราคาอาหารที่ทะยานขึ้น

โดยข้อมูลจากธนาคารโลกประเมินว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงกำลังจะลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเร็วกว่ากำหนด 5 ปี โดยสัดส่วน 21% ของประชากรโลกในขณะนี้ประทังชีวิตด้วยค่าครองชีพวันละไม่ถึง 1 ดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน 43% จากช่วงก่อนหน้านี้

"ความสำเร็จครั้งนี้อาจจะดูเหลือเชื่อ แต่ก็ยังมีความท้าทาย ในเรื่องการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ระบบสาธารณสุขและโภขนาการ ความหิวโหยอดอยาก"

เขายังบอกว่า ผลพวงจากการปฏิวัติอินเตอร์เน็ตในชาติกำลังพัฒนายังเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญที่สุในการต่อสู้กับความยากจน โดยเฉพาะในจีน อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ไนจีเรียตามมาเป็นอันดับ 5

นายดีน คาร์ลัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่ากลไกของตลาดกำลังเข้ามามีบทบาทในการลดความยากจน ขณะที่ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอกชนโดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย บางครั้งไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง ในหลายๆประเทศอย่างอินโดนีเซียมีประชากรมากถึง 31 ล้านคนยังติดกับดักความยากจนอยู่

นายนาดยา ซาอิบ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท วังซา เจลิตา อินโดนีเซีย เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ในการทำมาหากินให้กับคนยากจน แทนการใส่เงินช่วยเหลือไปโดยตรง เปรียบเหมือนสอนวิธีจับปลาแทนที่จะให้ปลากับกลุ่มคนยากจนเหล่านี้

นายไบรอัน เอ กลัลาเฮอร์ ประธานบริหาร และซีอีโอ บริษัท ยูไนเต็ด เวย์ เวิลด์ไวด์ สหรัฐ บอกว่า หนึ่งในสาเหตุหลักๆ ของความยากจนคือการเข้าไม่ถึงบริการสังคมขั้นพื้นฐานเชิงสังคม เช่น การศึกษาและการบริการสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายหลายประเทศไม่ควรเพิกเฉย ควรหันมาให้ความสนใจกับการให้บริการทางสังคมมากที่สุด ที่สำคัญรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจว่าการบริการทางสังคม เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 4 มิถุนายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง