ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อุดรธานี :จากกรณีชาวบ้านได้ร้องเรียนเทศบาลตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยระบุว่าใช้เงินกองทุนระบบ หลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบลที่ได้รับปีละกว่า 4 ล้านบาทไม่โปร่งใส ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี เปิดเผยว่า จากการประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีและหน่วย งานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นทราบว่าเทศบาลตำบล บ้านเชียงเข้าร่วมดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลในปี 2553 ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 40 บาทต่อประชากรในพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 5,000-6,000 คน ตั้งแต่ปี 2553-2555 ต่อเนื่อง 3 ปี ดังนี้ 258,120 บาท,214,800 บาท และ 216,120 บาท ตามลำดับ และเงินสมทบจากเทศบาล 50%ของจำนวนเงินที่ สปสช.โอนให้ คือ129,060 บาท, 130,000 บาท และเงินสมทบปี 55 อยู่ระหว่างการเลือกตั้งนายกใหม่ จึงยังไม่สามารถ โอนเงินสมทบ ในระบบได้ การที่ประชาชนเข้า ใจว่าได้งบประมาณปีละ 1 ล้าน จึงเป็นความ เข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะกองทุน มีเงินบริหารจัดการและจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ผ่านมารวมเงิน สปสช.และเงินเทศบาล ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันจำนวน 948,100 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ปีละ4 ล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว

"ส่วนกรณีที่ระบุว่าประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเงินกองทุนตำบลไปใช้นั้น พบว่า 3 ปีที่ผ่านมา กองทุนสุขภาพตำบลเทศบาลตำบลบ้านเชียงมีการนำเงินไปใช้จัดทำโครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ

แก้ไขปัญหาผู้สูงอายุด้านสายตา ตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไป รณรงค์การออกกำลังกาย แข่งขันการเต้นแอโรบิก ตรวจสารปนเปื้อนอาหาร สนับสนุนการทำงานของ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ตลอดจนพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนด้านการบริการจัดการ" ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 8 อุดรธานี กล่าว

นพ.ปรีดา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนตำบล คือ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการและดูแลสุขภาพประชาชนพื้นที่ตนเอง อย่างไรก็ตาม กรณีร้องเรียนการใช้เงินและการจัดกิจกรรมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุน ที่ผ่านมาสปสช.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยพัฒนาให้มีระบบการบริหารจัดกองทุนในรูปคณะกรรมการแบบมีส่วนร่วมระหว่างท้องถิ่น หน่วยบริการภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ มีระบบให้รายงานผลการดำเนินงานที่ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ผ่านโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ และมีการกำกับติดตามจากสปสช. สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและพื้นที่ กรณีทต.บ้านเชียง ที่ร้องเรียนเข้ามานั้นพบว่าประชาชนได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจึงทำให้เกิดการร้องเรียนขึ้น ดังนั้น พื้นที่ควรมีช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารและข้อเท็จจริงการดำเนินงานกองทุนที่ถูกต้องในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 7 มิ.ย. 55