เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ที่สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดการเรียนการสอนแก่นิสิตแพทย์ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พร้อมกับการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในแง่ของการรักษาผู้ป่วยสาขาโลหิตวิทยานับว่า เติบโตขึ้นมาก ดูจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากอดีตถึง 5 เท่า ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เนื่องจากในการรักษาผู้ป่วยโรคเลือดมีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางรับ-ส่งผู้ป่วยโรคเลือดจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีคนไข้ด้านโลหิตวิทยารายใหม่ๆ ถูกส่งต่อมาเข้ารับการรักษาที่นี่ประมาณ 30 รายต่อเดือน จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีราว 5-6 รายต่อเดือน
"80 % ของผู้ที่เข้ารับการรักษาสาขาโลหิตวิทยาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นผู้ป่วยมะเร็งโลหิตวิทยา คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นมะเร็งที่รักษายากกว่ามะเร็งชนิดอื่น เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ไม่มีระยะ 1, 2 หรือ 3 เหมือนมะเร็งอื่นๆ เมื่อป่วยเป็นมะเร็งโลหิตเชื้อก็จะกระจายไปทั่วร่างกายทันที วิ่งไปตามกระแสเลือดที่ไหลเวียนทั่วร่างกาย" ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
ศ.นพ.ธานินทร์ อธิบายว่า ในการรักษาผู้ป่วยลูคีเมียจะดำเนินการ 2 วิธี และมีราคาค่อนข้างสูง คือ ยาเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับเคมีบำบัดประมาณ 4 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายครั้งละราว 4 แสนบาท รวมค่าใช้จ่ายกว่า 1 ล้านบาท และ การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งผลการรักษาดีกว่าการรับเคมีบำบัด โอกาสการหายขาดจากโรคสูงกว่า แต่การปลูกถ่ายไขกระดูกทำได้ยาก จะต้องได้รับเนื้อเยื่อจากผู้ที่มีชนิดเนื้อเยื่อตรงกัน โดยหากเป็นพี่น้องที่พ่อแม่เดียวกันมีโอกาสเนื้อเยื่อตรงกัน 25% ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 8 แสน-1 ล้านบาท
ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลเป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ทางโรงพยาบาลรัฐเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลางได้ประมาณ 4 แสนบาท สิทธิประกันสังคมจะจ่ายแบบเหมาจ่ายประมาณ 7.5 แสนบาท ส่วนสิทธิบัตรทองไม่สามารถเบิกได้ ขณะที่คนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เรื่องเศรษฐสถานะยังเป็นปัญหาสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้มีจิตศรัทธาต้องการบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยสามารถบริจาคได้ที่สภากาชาดไทย
"จะพบผู้ป่วยลูคีเมียในคนที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี เป็นแบบปุ๊บปั๊บ แต่ถ้ารักษาดี มีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ป่วยลูคีเมียจะต้องเข้ารับเคมีบำบัดครั้งที่ 1 ทุกคน อย่างไรก็ตาม หากการรักษาได้ผลดี กอปรกับผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 55 ปี มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน มีเนื้อเยื่อตรงกัน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก" ศ.นพ.ธานินทร์กล่าว
ผู้ที่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูก กรณีที่เป็นลูกคนเดียว ศ.นพ.ธานินทร์ บอกว่า มีทางเลือก คือ ธนาคารอาสาสมัครในการบริจาคสเต็มเซลล์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ไม่ใช่พี่น้องพ่อแม่เดียวกันมีโอกาสเนื้อเยื่อตรงกัน 1 ต่อ 10,000 ราย สามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเจาะเลือดผู้ประสงค์บริจาคราว 5 ซีซี แล้วเก็บเป็นฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เมื่อมีผู้ป่วยจำเป็นต้องปลูกถ่ายไขกระดูก ก็จะทำการสืบค้นหาผู้ที่มีเนื้อเยื่อตรงกัน ปัจจุบันมีผู้บริจาคแล้ว 1 แสนราย จากเดิมที่มีผู้บริจาคเพียง 3,000-4,000 ราย
ผู้ป่วยลูคีเมียส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการสะสมของสารเคมีบางอย่าง เช่น เบนซิน (Benzean) ซึ่งผู้ที่ทำงานในโรงงานเชื่อมเหล็ก ทำกระเป๋า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมของสารชนิดนี้ การสูบบุหรี่ รังสีเอกซเรย์ ไวรัสบางตัว เช่น เอชไอวี อาการที่ต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นลูคีเมีย ได้แก่ เหนื่อยง่าย จากที่เคยเดินขึ้นลงสะพานลอย หรือซักผ้าได้ กลับเป็นทำไม่ได้ มีจุดจ้ำ เขียวช้ำ บริเวณร่างกาย เลือดออกตามไรฟัน มีประจำเดือนมากกว่าปกติ หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ซึ่งสามารถไปรับบริการได้ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
"เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเดินวิ่งการกุศล Cancer care ครั้งที่ 5 ที่บริเวณสวนลุมพินีมี เพื่อนำรายได้สมทบทุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย ปีนี้รายได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยของสาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เน้นการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเชิงลึกด้านโลหิตวิทยา อาทิ ว่าด้วยเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของยีน และไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็ง และจัดตั้งธนาคารเลือดและเนื้อเยื่อแช่แข็ง เพื่อนำมาใช้ศึกษาในอนาคต" ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
แม้ปัจจุบัน มะเร็งโลหิตวิทยา ไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่จากตัวเลขการเข้ารับการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างแพง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนน้อย ทั้งประเทศมีประมาณ 500 คน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการค้นคว้า ศึกษา วิจัยโรคทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย
"จะพบผู้ป่วยลูคีเมียในคนที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี เป็นแบบปุ๊บปั๊บ แต่ถ้ารักษาดีมีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ป่วยลูคีเมียจะต้องเข้ารับเคมีบำบัดครั้งที่ 1 ทุกคน อย่างไรก็ตาม หากการรักษาได้ผลดี กอปรกับผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 55 ปี มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน มีเนื้อเยื่อตรงกัน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก"
ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 9 มิ.ย. 2555
- 1694 views