ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพรัฐ ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

วาระเพื่อพิจารณาได้แก่ การบูรณาการการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้เป็นมาตรฐานเดียวพร้อมกับแนวทางการตั้งหน่วย National clearing house กลางของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ

วันดังกล่าว นพ.ไพจิตร์ วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะสรุปผลความก้าวหน้าการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินเสนอต่อที่ประชุม ส่วน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ปลัดกระทรวงแรงงาน จะเสนอรูปแบบการเงินการคลังระยะยาวของระบบสุขภาพ

ขณะที่ รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์อธิบดีกรมบัญชีกลาง เสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์

สำหรับการปรับสิทธิประโยชน์ด้านเอดส์ให้เป็นมาตรฐานเดียว ที่ประชุมร่วม3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ได้สรุปแนวทางไว้

อาทิ ปรับเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัส สูตรยาต้านไวรัส การให้บริการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน การเบิกจ่าย การสร้างฐานข้อมูลร่วม3 กองทุน การต่อรองราคายา และการจัดการบริหารยาสูตรดื้อยาในอนาคต

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังพบว่าภาพรวมของการเข้าถึงบริการและการตอบรับของหน่วยบริการทั้ง 3 กองทุนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิทธิประโยชน์และการจ่ายชดเชยยังมีความแตกต่างกันจึงเสนอให้ 1.กำหนดเกณฑ์การบำบัดทดแทนไตลักษณะเดียวกัน 2.ให้มีคณะกรรมการ หรือมีกลไกเดียวกันในการอนุมัติสิทธิประโยชน์

3.ให้มีฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้ป่วยและผลการรักษาระบบเดียวกัน 4.ให้ผู้ป่วยที่เปลี่ยนสิทธิประกันสุขภาพจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่ง ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีเดิม

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้บริหารจัดการน้ำยาล้างช่องท้องด้วยระบบเดียวกัน และให้มีการชดเชยค่าบริการทดแทนไตในอัตราเดียวกัน รวมถึงเพิ่มการจัดหา ต่อรองราคาและใช้ทรัพยากรระบบบริการร่วมกัน

นพ.สรกิจ ภาคีชีพผู้จัดการกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยวัณโรค สปสช. มั่นใจว่า หากที่ประชุมให้ความเห็นชอบเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านเอดส์ จะเริ่มบังคับใช้มาตรฐานเดียวกันได้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เชื่อว่าหากที่ประชุมเห็นชอบจริง จะใช้ระยะเวลาการปรับรายละเอียดไม่เกิน 2 เดือน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. มองว่า ข้อเสนอเรื่องไตกรณีการจัดให้ 3 กองทุนจ่ายชดเชยในอัตราเดียว และบริหารจัดการน้ำยาล้างช่องท้องด้วยเกณฑ์เดียวกัน เป็นเรื่องที่ทำยากเพราะกระทบกับหลายภาคส่วน อาทิ หน่วยบริการ บริษัทยา ดังนั้นอาจต้องมีการพูดคุยกันเพิ่มเติมในอนาคต ส่วนข้อเสนออื่นๆรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที

แนวคิดการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพเพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยเอดส์และไตวายให้เป็นมาตรฐานเดียว มีขึ้นภายหลังรัฐบาลประสบความสำเร็จจากการทำโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว

เบื้องต้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ผู้บริหารกองทุนเห็นชอบหลักการบูรณาการเอดส์และไตวายแล้วตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้น มติจากที่ประชุมในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จะเป็นการพิสูจน์ความจริงใจ และสะท้อนวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อย่างแท้จริง

 

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ 20 มิ.ย. 55