ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สุภิญญา กลางณรงค์ กก.กสท.เร่งร่างประกาศฯ ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน เข้าบอร์ด กสท. 25 มิ.ย. ก่อนชงเข้าบอร์ด กสทช. 28 มิ.ย.นี้ หวังทุกฝ่ายร่วมมือ คาดมีผลช้าสุดต้น ก.ย. 55 

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2555 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ครั้งที่ 5 การสื่อสารในภาวะภัยพิบัติกับบทบาท กสทช. จังหวัดภูเก็ต ว่า การจัดงานวันนี้เพื่อรับฟังความเห็น ก่อนนำผลที่ได้สรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายกับบอร์ด กสทช. โดยจะเสนอร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติงานของผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ในร่างประกาศดังกล่าวมี 3 แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบกอบการ คือ 1. ก่อนเกิดเหตุ ทุกสถานีต้องทำแผนรับมือภัยพิบัติก่อนส่งให้ กสทช. ภายใน 30 วัน 2. ขณะเกิดเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ รู้เหตุล่วงหน้า และไม่รู้เหตุล่วงหน้า ต้องแจ้งให้ประชานชนรับทราบผ่านสื่อต่างๆ มีตัววิ่งในทุกสถานี และ 3. ภายหลังเกิด แจ้งยกเลิกสถานการณ์กก.กสทช. กล่าวต่อว่า ร่างประกาศแนวปฏิบัติของสื่อดังกล่าวจะเข้าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอบอร์ด กสทช. ในวันที่ 28 มิ.ย. จากนั้นจะนำขึ้นเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนปรับปรุงแก้ไข แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีผลภายในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.-ต้นเดือน ก.ย. 2555

ที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดโฟกัส กรุ๊ป กับผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เมื่อร่างประกาศนี้มีผลแล้วก็จะมีฐานะเหมือนกฎกระทรวงที่ผู้ประกอบการวิทยุ-โทรทัศน์ ต้องยึดเป็นแนวปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน

"แผนภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน กสทช.ถูกคาดหวังจากสังคม และถูกวิจารณ์บ่อยครั้ง สำหรับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือหน่วยงานเพียงหน่วยเดียว จึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย" น.ส.สุภิญญา กล่าว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา และอนุกรรมการโทรคมนาคมเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กสทช. กล่าวว่า เวลาเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน โทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นตัวหลัก แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องเข้าใจว่าไม่ต้องใช้โทรแต่ให้ส่งข้อความ

ประธานมูลนิธิกระจกเงา กล่าวต่อว่า ถ้าเครือข่ายไหนระบบล่มให้ปิดเครื่องเพื่อประหยัดแบตเตอรี่ ส่วนสมาร์ทโฟน มีความสำคัญมากเพราะมีระบบเช็กอิน ขณะที่วิทยุสมัครเล่นเป็นพระเอกเสมอตอนเกิดเหตุ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน

"เราใช้ค่ายไหนอยู่ แล้วเกิดเหตุค่ายนั้นล่มเราต้องปิดเครื่องเซฟแบต เพราะถ้าเปิดไว้มันจะกินแบตเยอะมาก ส่วนสมาร์ทโฟนสำคัญมาก เพราะเช็กอินบอกตำแหน่งที่เราอยู่ได้ ขณะที่วิทยุสมัครเล่นเป็นพระเอกเสมอแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเวลาเกิดเหตุ" นายสมบัติ กล่าว

สำหรับเสวนาสาธารณะ การสื่อสารในภาวะภัยพิบัติ บทเรียนจากประสบการณ์สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สื่อมวลชนในพื้นที่ ดร.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุกรรมการจัดทำแผนดำเนินงานวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ในภาวะภัยพิบัติ กสทช. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นายสาวิตร์ ตัณฑนุช อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายทัสยุ เตชะโชติ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ดำเนินรายการ.