ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สิ้นสุดไปแล้วกับการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ทแอนด์สปา จ.ภูเก็ต โดยปีนี้มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทยเป็นเจ้าภาพจากประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ซึ่งในงานยังมีการประชุมอาเซียนบวก 3 คือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และการประชุมอาเซียนบวกจีน ครั้งที่ 4 เพื่อหาความร่วมมือด้านสาธารณสุขร่วมกัน ก่อนจะมีการประชุมครั้งที่ 12 อีก 2 ปี ที่เวียดนาม

โดยวาระการประชุมมี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน 2.การควบคุมบุหรี่-สุรา โดยเฉพาะมาตรการเรื่องภาษี เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งเรื่องการห้ามทำ ซีเอสอาร์ (CSR) หรือกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทบุหรี่และเหล้า 3.การสร้างประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี 4.การลดปัญหาโรคเอดส์ และ 5.ความร่วมมือการสร้างเครือข่ายฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งไทยจัดเป็นผู้ริเริ่มในการควบคุมป้องกันโรคระบาด

ในการประชุมมีมติร่วมว่า จะต้องขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขให้เป็นอาเซียนสุขภาพดีในปี 2558 โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ใน 7 สาขา ได้แก่ 1.การป้องกันควบคุมโรคติดต่อ 2.กลไกเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และศักยภาพในการดูแลสุขภาพในภาวะภัยพิบัติ 3.การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 4.ระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารและระบบการเตือนภัยฉุกเฉิน 5.การพัฒนากำลังคนทางด้านสุขภาพ 6.การพัฒนาด้านการแพทย์พื้นบ้าน และ 7.การพัฒนามาตรฐานยาและวัคซีน และความร่วมมือด้านอื่นๆ

สำหรับการขับเคลื่อนตามข้อตกลงนั้นจะประกอบไปด้วย 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ระหว่างประเทศ 2.การจัดประชุมสัมมนาวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3.การฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน 4.การแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรสาธารณสุข และ 5.การศึกษาและวิจัยร่วมกันและกลไกอื่นๆ ซึ่งจะมีการตกลงภายหลัง โดยไทยพร้อมจะให้ความร่วมมือกับประเทศอาเซียน โดยเฉพาะด้านระบาดวิทยา และการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไทยมีประสบการณ์

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรี สธ. กล่าวว่า แต่ละประเทศเห็นพ้องเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งประเทศสมาชิกสนใจมากในเรื่องกลไกทางการเงิน ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งตรงนี้ไทยมีผลการดำเนินการดีมาตลอดช่วง 10 ปี เห็นได้จากอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น จาก 2.45 ครั้งต่อคนต่อปี ในปี 2546 เป็น 3.22 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 ที่สำคัญโครงการนี้โดนใจประชาชน โดยสำรวจพบว่าความพอใจเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 83 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 90 ในปี 2553

"ไม่เพียงแต่กลุ่มประเทศอาเซียนที่สนใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็สนใจซึ่งไทยจะเป็นผู้รับประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย"

ส่วนการประชุมอาเซียนบวกจีน ครั้งที่ 4 วาระสำคัญมุ่งในเรื่อง การเร่งรัดควบคุมบริโภคยาสูบ เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยมีกรอบ 4 ประเด็น คือ 1.การพิจารณาให้นำบุหรี่ออกจากรายการสินค้ายกเว้นภาษีตามข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (Free Trade Agreement) 2.ร่วมกันกำหนดเป้าหมายสู่อาเซียนปลอดบุหรี่ 100% ทั้งสถานที่ปลอดบุหรี่และการประชุมปลอดบุหรี่ 3.ห้ามการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการห้ามทำซีเอสอาร์ (CSR) ของธุรกิจยาสูบทั้งในและนอกประเทศของตน และ 4.สนับสนุนให้ทุกประเทศ มีกลไกการระดมทุนและงบประมาณที่ยั่งยืน เพื่อการรณรงค์ควบคุมยาสูบ ซึ่งอาจมาจากการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท และงบประมาณของรัฐ

ประเด็นการนำบุหรี่ออกจากรายการสินค้า ยกเว้นภาษีตามข้อตกลงทางการค้าเสรี ยังไม่ใช่ข้อสรุปแท้จริง เนื่องจากโดยหลักการต้องนำเรื่องเข้าสู่การประชุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีนายกรัฐมนตรีของแต่ละประเทศหารืออีกครั้ง นอกจากการประชุมดังกล่าว ยังมีการหารือทวีภาคีระหว่างนายวิทยา นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. และ ศ.นพ.เป เตท ขิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพม่า ซึ่งขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดน โดยเฉพาะโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย และวัณโรค ใน 4 จังหวัดคู่แฝดคือ เชียงราย-ท่าขี้เหล็ก ตาก-เมียวดี กาญจนบุรี-เมืองพญาตองซู และระนอง-เกาะสอง รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานอพยพและประชาชนชายแดน การพัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์เพื่อดูแลผู้พิการ และความร่วมมือในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูกะปะ

แม้ผลการประชุมยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่อย่างน้อยก็มีแนวโน้มในทางที่ดี...

--มติชน ฉบับวันที่ 10 ก.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง