ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชั่วโมงนี้ต้องบอกว่าผลงานของสำนักงานประกันสังคม หนึ่งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ของผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน ไม่ค่อยเข้าตาหรือเป็นที่ถูกอกถูกใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ สักเท่าไรนัก เนื่องจากทำงานไม่ตอบสนองนโยบายของรมว.แรงงาน เท่าที่ควร 

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของแนวคิดที่จะทำโครงการตอบแทนสังคม มากกว่าที่จะรอแต่เก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ นโยบายของรัฐมนตรีแรงงานที่เสนอให้สำนักงานประกันสังคมไปดำเนินการตั้งแต่เริ่มเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ๆ แทบจะไม่เดินหน้าตามเป้าที่วางไว้ เช่น โครงการให้ทุนเรียนแพทย์และพยาบาลแก่บุตรของผู้ประกันตนที่เรียนดีแต่ยากจน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวม เพราะว่าจะมีแพทย์ พยาบาลมารักษาผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประกันตน เป็นแรงจูงใจที่อยากจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้นด้วย โดย รมว.แรงงาน บอกว่า ยังไม่เห็นความคืบหน้าและไม่มีการรายงานผลการดำเนินงานแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ที่ รมว.แรงงาน เคยเสนอให้ สปส.ทำ เพราะมองว่าจะสามารถรองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น และรวมถึงผู้ประกันตนที่มีชราภาพแล้วไม่มีลูกหลานพร้อมจะดูแล ก็สามารถใช้สวัสดิการตรงนี้ได้ ซึ่งมองว่าเป็นโครงการที่ดี ที่สำนักงานประกันสังคมสามารถปรับบทบาทของตัวเองที่จะหันมาสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ประกันตน มากกว่าที่จะมากังวลแต่เรื่องเงินกองทุนชราภาพจะติดลบ ทว่าแนวคิดนี้ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริหารประกันสังคม โดยตอบกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายที่ห้าม สปส. นำเงินไปลงทุนในเชิงธุรกิจที่มีความเสี่ยง 

กระนั้นก็ดี ฝ่ายการเมืองกลับมองว่าเรื่องนี้ผู้บริหาร สปส.ขาดการทำงานเชิงรุก ไม่มีมุมมองใหม่ๆ โดยที่ไม่คิดจะทำอะไรที่จะตอบแทนให้แก่ผู้ประกันตนมากกว่าสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ ซึ่งอย่าลืมว่ายังมีแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ที่ยังขาดหลักประกันสุขภาพ ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะดึงคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้เลย และสิ่งที่รมว.แรงงานมองว่าเป็นอุปสรรคของการทำงานในสำนักงานประกันสังม คือ การมีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่มีแต่หน้าเดิมๆ ซึ่งทำให้กรอบวิธีคิดของงานที่ออกมาจากประกันสังคมไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองได้มีการเสนอให้ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เซ็นคำสั่งย้ายสลับตำแหน่งรองอธิบดี 3 รายในกระทรวงแรงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สปส. ถูกโยกมาเป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ก็มีนายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปเป็นรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และให้นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดี กสร.ไปเป็นรองอธิบดี กกจ.และให้นายสมใจ บุญประสิทธิ์ รองอธิบดี กพร. ไปเป็นรองเลขาธิการ สปส. คาดว่าจะมีผลภายในสัปดาห์นี้ แต่อีกหนึ่งกระแสบอกว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีแนวโน้มที่จะถูกโยกย้ายมากที่สุด เนื่องจากฝ่ายการเมืองไม่พอใจผลงานอย่างมาก

จะว่าไปเรื่องนี้ดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองพยายามจะเข้าไปมีบทบาทในกองทุนประกันสังคม แต่ด้วยตัวกฎหมายและโครงสร้างบอร์ด สปส. ที่เข้มแข็งไม่ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ง่าย ซึ่งเป็นข้อดี แต่ในทางกลับกัน หากผู้บริหารประกันสังคมไม่สามารถบริหารกองทุนที่มีเงินมหาศาลนี้ให้คุ้มค่ากับเงินที่เก็บไปจากผู้ประกันตนได้ ไม่มีการทำงานเชิงรุกเหมือนที่ฝ่ายการเมืองตั้งข้อสังเกตจริง ก็ถือเป็นความโชคร้ายของผู้ประกันตนได้เหมือนกัน

เพราะว่าผู้ประกันตน อาจจะไม่ได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ แถมในอนาคตอาจจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น...

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์