ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

45% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทยเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ การใช้ยาเกินความจำเป็น และการใช้ยาราคาแพง

13 ต.ค. 2553 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แต่งตั้ง"คณะทำงานต่อรองราคายาเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ" ขึ้น หน้าที่หลักคือ ต่อรองราคายากับบริษัทยาข้ามชาติให้ได้ราคาเหมาะสมที่สุด

เมื่อวันที่8-9 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพัฒนาฯ จัดประชุมเพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานชุดดังกล่าว ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อรองราคายาออกเป็น 2 ระบบ

หนึ่ง คือการต่อรองราคายาที่พึงประสงค์ โดยคณะทำงานเป็นผู้พิจารณาว่าควรต่อรองรายการยาใด อีกหนึ่งคือการต่อรองราคายาที่ใช้ในปัจจุบัน โดยคณะทำงาน รับมอบจากคณะอนุกรรมการฯ ว่าควรต่อรองรายการยาใด

นอกจากนี้ ยังได้จัดขั้นตอนแยกการต่อรองราคาออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ให้บริษัทเสนอราคาแบบเอกสาร (แบบPassive Level) สำหรับยาทุกรายการ และต่อรองยาราคาแพง โดยเชิญบริษัทยามาชี้แจงหลักการและเหตุผลความจำเป็นและต่อรองราคา (แบบ Active Level)

พร้อมกันนี้ คณะทำงานได้จัดทำวิธีการดำเนินงานต่อรองราคายาโดยคำนึงถึงบริบทและวิเคราะห์ข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทดลองทางคลินิก การประเมินต้นทุน การประมาณการใช้ยา ข้อมูลความคุ้มค่า ผลกระทบต่องบประมาณ รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์และข้อเสนอที่จะใช้ในการต่อรองราคายา

ผลลัพธ์จากกลไกข้างต้น ระหว่างเดือน มี.ค. 2554 ถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่ามีการต่อรองราคายาทั้งสิ้น 80 รายการแบ่งเป็น Passive Level จำนวน 19 รายการ ลดราคายาได้เฉลี่ย 14.14% และแบบ Active Level จำนวน 61 รายการลดราคาลงได้ประมาณ 34.28%

เมื่อเปรียบเทียบกับราคาการจัดซื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในปี 2554 พบว่าประหยัดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท

สำหรับผลงานการต่อรองราคาที่เสนอเข้าสู่การประกาศบัญชียาหลักอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ ยาสำหรับรักษาโรคตับอักเสบซี (Hepatitis C) 2 รายการ ลดลงกว่า 65% หากมีผู้ป่วยตามประมาณการคือ 3,000 ราย จะประหยัดงบประมาณได้ถึง 527 ล้านบาทต่อปี

บทสรุปจากการดำเนินงาน ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกัน คือ 1.การมีโครงสร้างคณะทำงานต่อรองราคายาที่ชัดเจน สามารถลดราคายาก่อนเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติได้มากกว่าการต่อรองแบบ Passive

2.การต่อรองราคาก่อนเข้าบัญชียาหลักฯ ทำให้ได้ประโยชน์ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เนื่องจากราคาต่อรองที่ได้จะถูกนำไปเป็นราคากลางและราคาจ่ายชดเชยของทั้ง 3 กองทุน

3.กลยุทธ์ที่ใช้ในการต่อรองราคายาควรใช้แบบผสมผสานให้เหมาะสมตามบริบท 4.แรงขับเคลื่อนทางนโยบายมีผลกระทบต่อการได้รับความสนับสนุนทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ และงบประมาณ

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กันยายน 2555