ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรณีที่ประชุมผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม  และสวัสดิการข้าราชการ เห็นชอบให้บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยไตวายฯ ทั้ง 3 สิทธิให้ได้รับการบริการรักษามาตรฐานเดียว โดยจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องการให้ยาต้านไวรัสฯ โดยเฉพาะสิทธิข้าราชการ เพราะเป็นระบบจ่ายตรง ทำให้ที่ผ่านมาแพทย์อาจมีการวินิจฉัยและให้ยาต้านไวรัสฯที่แตกต่างจากระบบอื่นนั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แทบจะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งจำนวน การให้ยาสูตรใดบ้าง หรือปริมาณเท่าใด เนื่องจากเป็นระบบจ่ายตรง  แพทย์ให้ยา คนไข้ก็จ่ายเงินและนำไปเบิกได้ ทำให้บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยและให้ยา นอกเหนือจากสูตรพื้นฐาน โดยให้ยาสูตรแรงกว่า เพราะคิดว่าจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น      ตรงนี้พูดยาก ด้วยระบบแบบนี้ทำให้ตรวจสอบลำบาก ซึ่งไม่เพียงทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ แต่ยังทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงดื้อยา ไม่มียาทาน เพราะทานยาสูตรแรงไปแล้ว ที่ประชุมที่ผ่านมา กังวลเรื่องนี้ จึงเห็นชอบให้การรักษาต้องเป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ โดยใช้ 2 แนวทางหลักในการควบคุมการดูแลรักษา

นายนิมิตร์กล่าวอีกว่า แนวทางแรกจะใช้แนวทางของกรมควบคุมโรคในเรื่องของแนวทางการวินิจฉัยโรค รวมถึงเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสฯ โดยจะให้ยาต้านไวรัสฯก็ต่อเมื่อค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือระดับภูมิต้านทานของร่างกายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 350 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ได้รับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น ลดปัญหาร่างกายทรุดโทรม แต่หลายคนกังวลว่า จะทำได้จริงหรือไม่ ยิ่งในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะยังไม่มีระบบตรวจสอบ และเป็นระบบเบิกจ่ายตรง จึงนำไปสู่แนวทางที่สอง คือการใช้ระบบตรวจสอบข้อมูลที่เรียกว่า โปรแกรมบันทึกข้อมูลการให้บริการยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ (NAPHA PLUS) ซึ่งปัจจุบันสิทธิ 30 บาท และประกันสังคม ใช้ระบบนี้อยู่ ทำให้ทราบจำนวนผู้ป่วย และตรวจสอบได้ว่ามีการให้ยาที่ค่าซีดีโฟว์เมื่อใด และให้ยาสูตรพื้นฐาน หรือให้ยาสูตรดื้อยาไปมากน้อยเพียงใด

"ในการประชุมผู้แทนจาก 3 กองทุน ทางกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ยังไม่มีระบบนี้ แต่พร้อมจะพัฒนาให้เหมือนกัน โดยขอเวลา 1-2 เดือน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ในอนาคตจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเอดส์ในแต่ละระบบมีจำนวนเท่าใด รับการรักษามากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการตรวจสอบการใช้ยา และการวางแผนการรักษาภาพรวมทั้งประเทศ" นายนิมิตร์กล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--