ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นับตั้งแต่ภาคีสมาชิกอาเซียนได้มีการลงนามในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิก รวมทั้งภาคเอกชน ดูเหมือนว่าจะมีการตื่นตัวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย 4 ประเทศ อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย กำลังจะกลายเป็นหัวหอกสำคัญและมีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์ และการค้าการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

ด้วยความเป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกันของประเทศเหล่านี้ หากมองผลกระทบในเชิงลบแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะคนชายขอบกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าจะอ้างเหตุผลว่าการเปิดประตูสู่อาเซียนในครั้งนี้เป็นเพียงการเปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) เพียงบานเดียวเท่านั้น โดยอ้างอีกว่าประตูอีก 2 บานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงอย่าง ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community) และประชาคมความมั่นคงอาเซียน(Asean Security Community) ยังไม่เปิดแง้มแต่อย่างใด ทว่าหลายภาคส่วนได้มีความวิตกกังวลถึงปัญหาที่จะกำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาบริเวณแนวตะเข็บชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

สอดคล้องกับแนวคิดของ นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ที่ถือว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ของคนชนเผ่าหรือประชาชนบนที่สูงและคนชายขอบของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในเรื่องนี้นายวิวัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่คาบเกี่ยวกับเรื่องสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยมีเพียงการกล่าวอ้างในส่วนผลกระทบทางด้านบวกเท่านั้น แต่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีการพูดถึงอย่างชัดเจน

"เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งในประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาการค้ามนุษย์ การอพยพโยกย้ายข้ามถิ่นของประชากรระหว่างอาเซียน และเรื่องปัญหาอาชญากรข้ามชาติ การก่อการร้ายข้ามชาติ ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรที่รุนแรง โรคระบาด โดยปัญหาเหล่านี้ปัจจุบันยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข และเกรงว่าเมื่อมีการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการปัญหาเหล่านี้จะขยายใหญ่โตขึ้นจนเกินที่จะเยียวยา" วิวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้นายวิวัฒน์ ยังลงลึกไปถึงเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนชายขอบ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้เข็มทิศของรัฐบาลไทยมุ่งเน้นเพียงการเตรียมตัวเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเท่านั้น จึงมีแต่เพียงตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนและตัวชี้วัดทางสังคม ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งกระทบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นคนยากจน โดยเฉพาะกระทบกับกลุ่มคนชายขอบและประชากรข้ามชาติที่จะตกเป็นเหยื่อพวกทุนข้ามชาติ ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  ภาพรัฐบาลไทยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มคนชายขอบค่อนข้างสูงในสายตาสากล จริงอยู่ว่า แม้อาเซียนจะเป็นนิติบุคคล แต่มีหลักการไม่แทรกแซงในประเทศสมาชิกอื่นกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น หากรัฐบาลประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน มีการละเมิดสิทธิประชาชนและกลุ่มคนชายขอบเกิดขึ้น ภาคีสมาชิกอื่นจะไม่มีสิทธิก้าวก่ายเลย ซึ่งถือเป็นผลเสียเป็นอย่างมากต่อคนชายขอบ เพราะคนชายขอบโดยเฉพาะคนไร้สัญชาติ ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองเท่ากับพลเมืองอื่นๆ ทั่วโลก ในทางกลับกันหากภาคีสมาชิกสามารถเข้าไปก้าวก่าย หรือท้วงติงปัญหาการละเมิดสิทธิได้ ก็จะส่งผลดีเพราะอาจสามารถทำการชะลอปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือมีการยกระดับไปสู่การทำข้อตกลงระดับภาคี ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนชายขอบลดลง

โดยเรื่องนี้นายวิวัฒน์ ได้สรุปประเด็นสถานการณ์ปัญหาเดิมของคนชายขอบที่ผ่านมา และที่ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไขว่า นับแต่สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ได้มีการชุมนุมในปี 2542 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เรียกร้องรัฐบาลให้มีการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ที่อยู่อาศัย สัญชาติและการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เนื่องจากเป็นคนไร้สัญชาติ ปรากฏว่า มติ ครม. 29 สิงหาคม 2543 ทำให้ชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทั้งที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน คือ บางคนกลายเป็นคนมีสัญชาติ บางคนได้รับอนุญาตอาศัยอยู่ถาวรและบางคนกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

" นับตั้งแต่ ครม.มีมติเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คนที่ถูกระบุว่าอพยพเข้ามาหลัง 3 ตุลาคม 2528 ไม่เคยมีใครได้สัญชาติแม้แต่คนเดียว ส่งผลไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ จากรัฐ ปว 337 หมายถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ประกาศเมื่อ 13 ธันวาคม 2515 ถอนสัญชาติชนกลุ่มน้อย กรณีถูกระบุว่าบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว" นายวิวัฒน์ กล่าว และว่ากรณีป่าไม้และที่ดิน ที่อยู่อาศัยถือเป็นประเด็นที่เลวร้ายสุดสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า เพราะถูกกฎหมายป่าไม้ประกาศทับพื้นที่ ทำให้กลายเป็นคนกระทำผิดกฎหมายที่ที่พวกเขาอยู่กันมานมนาน

นายวิวัฒน์กล่าวอีกว่า ชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์มักตกเป็นเหยื่อกลุ่มแรกๆ ของนโยบายกล่าวหาโยนความผิดเสมอ เช่น ตกเป็นเหยื่อของนโยบายปราบปรามยาเสพติดในปี 2545-2546 ที่ถูกฆ่าตายและถูกจับกุมจำนวนมาก ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกป่าและที่ดินที่กินถูกยึดจำนวนมากจนไร้ที่ดินทำกินและถูกผลักมาอยู่ในเมืองแออัด นอกจากนี้ความเป็นคนไร้สัญชาติยังทำให้ถูกจำกัดสิทธิเกือบทุกเรื่อง เช่น ถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ขาดสิทธิทางการเมืองและไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ตลอดจนขาดสิทธิและเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น

จากสถานการณ์ปัญหาเดิมๆ ของชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ จะเห็นได้ว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติจากรัฐ กลุ่มคนชายขอบในสังคมไทยยังคงจะต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

ทว่าหลังจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ กำลังจะพบกับปัญหาใหม่ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น คือ ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นไปอีก คนชายขอบก็คงหนีไม่พ้น การเป็น "แพะรับบาป" อีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการยกระดับจากแพะบ้านธรรมดา สู่การเป็น "แพะรับบาประดับอาเซียน"

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กันยายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง