ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ช็อก...วงการแพทย์และสาธารณสุขอีกครั้ง...!

เมื่อ “คอตีบ” หรือ Diphtheria โรคที่หายไปจากประเทศไทยนานกว่า 17 ปี กลับมาระบาดอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พื้นที่การระบาดเริ่มจากจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดเลย พบผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย จากทั้งหมด 87 ราย ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน

เดือนกันยายน 2555 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคอีสาน ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดในวันที่ 26 มิ.ย. ถึง 25 ก.ย.2555 ว่า มีผู้ป่วยโรคคอตีบ 59 ราย แต่จากการลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. เพียง 18 วัน หลังจากวันที่ 25 ก.ย. ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มเป็น 87 ราย

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรค ทั้งลดความรุนแรงที่จะเกิด Out Break ในพื้นที่และป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคไปในพื้นที่อื่น

สำหรับโรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ

แบคทีเรีย C. diphtheriae มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ (nontoxogenic) ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ พิษที่ถูกขับออกมาอาจจะเข้าไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

เชื้อโรคคอตีบ จะพบในคนเท่านั้น โดยมักจะอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจจะไม่มีอาการของโรคแต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ที่เรียกว่าเป็นพาหะ หรือ carrier ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการไอ จาม รดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด อย่างเช่น เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานการป่วยด้วยโรคคอตีบของเด็ก

กว่า 500 คน โดยรัฐบาลต้องจัดห้องแยกที่โรงพยาบาล Bhim Sain Sachhar Civil เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในจำนวนนี้มีเด็ก 9 คนถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่กรุงนิวเดลี เนื่องจากมีอาการรุนแรง และ 5 ราย เสียชีวิตจากการสอบสวนโรค ทราบว่าเด็กที่ป่วยและเสียชีวิตทั้งหมดเป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียประกาศจะสนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้กับทาจิกิสสถานผ่านองค์การยูนิเซฟ เพื่อนำไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับเด็กที่ประมาณ 60% ของประเทศไม่ได้รับวัคซีน

ในประเทศไทยมีรายงานการระบาดของโรคเมื่อปี 2551-2553 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปี 2553 เฉพาะที่จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วยโรคคอตีบถึง 48 ราย เสียชีวิต 9 ราย และหากรวมตัวเลขทั้ง 3 จังหวัดในรอบ 3 ปี พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคคอตีบถึง 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 1-6 ขวบ สาเหตุที่ทำให้การระบาดของโรครุนแรงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนให้กับเด็กได้ ทำให้อัตราการเข้าถึงวัคซีนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแค่ 60% ในสหรัฐ-อเมริกามีนโยบายให้มีการฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ให้กับเด็กและผู้ใหญ่ซ้ำทุกๆ 10 ปี เป็นการควบคุมป้องกันโรค

เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อโรคได้ตั้งแต่ เล็กหลังจากภูมิต้านทานจากแม่หมดลง ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคได้ลดลงมาก และไม่พบโรคคอตีบมานานกว่า 17 ปี แต่กลับมามีการระบาดอีกครั้งในช่วงปี 2551 ในภาคใต้ จากการที่เด็กไม่ได้รับวัคซีน และปี 2555 ในภาคอีสาน จากแรงงานที่ข้ามมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งมีการระบาดของโรคที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน แต่ล่าสุดพบว่าคอตีบมีระยะฟักตัวนานถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ในลำคอ แต่ไม่มีอาการสามารถที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

หลังระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ

คล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มักเกิดจากโรคแทรกซ้อน เช่น ทางเดินหายใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีการอัมพาตของกล้ามเนื้อ

การรักษาโรคนี้ เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที การป้องกัน ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยวัคซีนที่ใช้มี 2 แบบ คือ วัคซีนผสมของคอตีบและบาดทะยัก ได้แก่ วัคซีน DT และ วัคซีน dT และ วัคซีนผสมของคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน วัคซีนกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DTwP และวัคซีน DTaP

แม้ขณะนี้การระบาดของโรคจะจำกัดวงอยู่เฉพาะในภาคอีสาน แต่ก็ประมาทไม่ได้ ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Outbreak คงจำกันได้ดีว่า สาเหตุที่ทำให้เชื้อโรคและการระบาดรุนแรงขึ้นไม่ได้มาจากตัวโรคแต่เพียงอย่างเดียว หากเกิดจากความโลภและความเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่พยายามปกปิดข้อมูล ทำให้เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในแคลิฟอร์เนียตกอยู่ในภาวะแห่งความวิบัติ เช่นเดียวกับประเทศไทยขณะนี้ ที่นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะเกรงว่าจะถูกฝ่ายการเมืองไม่พอใจ

คงต้องรอให้ เมืองไทยเป็นแบบในหนังฝรั่ง... เสียก่อน จึงค่อยมีมาตรการ อย่างนั้นหรือ...?

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 20 ตุลาคม 2555