ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมโรงงานเตรียมเปิดรับฟังความเห็นเลิก-ไม่เลิก ใช้แร่ใยหินในไทย ครั้งสุดท้าย วันที่ 19 พ.ย.ก่อนสรุปเสนอ ครม.ตัดสิน

นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ กรมจะจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน จากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายหลังจากนั้นจะสรุปวิธีต่างๆ และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในปีนี้ ตามข้อตกลงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินประเทศไทยได้เข้ามาหารือเพื่อสอบความคืบหน้าเรื่องนี้ด้วยและได้ยื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย

ที่ผ่านมา กรมได้จัดรับฟังความคิดเห็นมา 4 ครั้ง แต่ยังมีกลุ่มที่ยังเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ยังเกิดข้อถกเถียงกันอยู่มาก ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ลงตัว จึงจะจัดอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งน่าจะหาข้อยุติในความขัดแย้งของทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ โดยในส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มอบหมายให้ศึกษาผลกระทบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้านและจัดทำแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบ หากจะลดหรือเลิกใช้

สิ่งที่ ครม.มอบหมายให้ศึกษามี 4 ข้อ ได้แก่ 1. ยกเลิกใช้แร่ใยหิน2. ให้ศึกษาผลกระทบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผลกระทบทุกด้านทั้งการผลิต ตลาด ราคาสินค้าเป็นต้น ข้อนี้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล 3. กระทรวงการคลังดูระบบภาษีที่อาจนำมาใช้ช่วยเหลือ สนับสนุน 4. กระทรวงสาธารณสุขทำข้อมูลถึงโทษของแร่ใยหิน วิธีแก้ไข

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้กำหนดแนวทางเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในสินค้า 5 ประเภท คือ 1.กระเบื้องมุงหลังคา กำหนดเวลาปรับตัว 5 ปีในปีที่ 3 กำหนดให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กระเบื้องลอนใหญ่ ปีที่3-5 พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินในกระเบื้องลอนเล็ก ครบ 5 ปีทุกโรงงานต้องยกเลิกการใช้ในกระเบื้องลอนเล็ก

2.กระเบื้องยางปูพื้น ในช่วง 1-2 ปีแรก จะกำหนดให้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินและในปีที่ 3 ทุกโรงงานต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีผลิตไม่ใช้แร่ใยหิน3.กระเบื้องแผ่นเรียบ มีหลายโรงงานเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว จึงกำหนดเวลาปรับตัวภายใน 3 ปี 4.ท่อน้ำแรงดันสูง หรือท่อซีเมนต์ใยหิน ยังไม่พบว่ามีโรงงานใดยกเลิกการใช้เลย

ดังนั้นจึงกำหนดการเลิกใช้เป็นขั้นบันได โดยใน 1-2 ปีแรก ให้ลดการใช้ลง 25% ปีที่ 3 ลดการใช้50% ปีที่ 4 ลดการใช้ 75% และปีที่ 5 ต้องลดการใช้ 100% 5.เบรกและคลัตช์ มีผู้ประกอบการบางรายยกเลิกใช้ไปแล้ว กำหนดเวลาปรับตัว 5 ปี

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง