ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากเหตุการณ์ม็อบพยาบาลโดยเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูก จ้างชั่วคราว สธ. รวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลรัฐบาลให้เป็นข้าราชการนั้น ทำให้หลายคนหวั่นใจว่าจะเกิดพยาบาลภาครัฐสมองไหลสู่เอกชน ตลอดจน อาจมีการไหลออกของพยาบาลไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน!!

ปัจจุบันอัตราพยาบาลในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยกำลังขาด แคลนอยู่ประมาณ  40,000 คน แบ่งเป็นโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข 30,000 คน และในสังกัดอื่น ๆ เช่น ทหารสภากาชาด ไทย และกรุงเทพฯ อีกประมาณ 10,000 คน โดยที่ผ่านมาสภาการพยาบาลพยายามผลิตพยาบาลเพิ่มอีกปีละประมาณ 8,500 คน เพื่อลดอัตราการขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพยาบาลบางส่วนลาออกเพราะไม่ได้รับการบรรจุและบางส่วนย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่าและรับภาระการทำงานที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลและสาธารณสุขไม่สามารถที่จะดึงพยาบาลให้อยู่ในระบบได้

ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงปัญหาของพยาบาลไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือว่ายังขาดแคลนพยาบาลเป็นจำนวนมากแม้โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งจะมีการผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างต่อเนื่องก็ตามโดยปัจจุบันอัตราส่วนของพยาบาลกับผู้ป่วยอยู่ที่ 1 ต่อ 600 ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ที่อัตราส่วน 1:500 แต่ยังไม่สามารถทำได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและมาเลเซียอยู่ที่ 1 ต่อ 200 อีกทั้งหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ. 2558 อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยน แปลงระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพยาบาล

เนื่องมาจากวิชาชีพพยาบาลเป็น 1 ใน 7 แรงงานฝีมือตามกรอบ Mutual RecognitionArrangement(MRA)ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน ซึ่งทำให้สามารถเข้าไปทำงานประเทศสมาชิกอาเซียนได้สะดวกขึ้น ซึ่งมีข้อดี คือมีการไหลเข้าของพยาบาลจากต่างประเทศช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพของไทย

'แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของการไหลออกของพยาบาลไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยเช่นกันโดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ที่มีกำลังในการซื้อสูงแต่หลักสูตรการเรียนการสอนด้านพยาบาลยังไม่เทียบเท่าไทย ตลอดจนการไหลเข้ามาของผู้ใช้บริการด้านสุขภาพในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์สุขภาพในเอเชีย ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตอย่างสวนทางของความต้องการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยกับจำนวนพยาบาลที่มีอยู่และสามารถผลิตได้ในแต่ละปี หากไม่มีการป้องกันตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพยาบาลและอาจารย์สอนพยาบาลเพิ่มมากขึ้น"

ผศ.จริยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลในประเทศไทยมีประมาณแสนกว่าคนแบ่งเป็นพยาบาลที่ทำงานในหอผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และพยาบาลที่ทำงานในชุมชน ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ค่อนข้างหนักเนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่แค่ผู้ช่วยแพทย์เท่านั้นแต่ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเป็นวิชา ชีพที่เสียสละและต้องทำด้วยใจรักจึงจำเป็นต้องดูแลให้อยู่ในระบบมากที่สุด

ซึ่งการดูแลนั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนที่สูง แต่สิ่งสำคัญคือ การยอมรับจากสังคม จากคนรอบข้าง และมีความมั่นคงในชีวิตมีสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว อย่างนักศึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเมื่อศึกษาจบแล้วมักจะทำงานที่โรงพยาบาลรามาฯ เป็นหลัก โดยจะไม่ได้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการแม้จะไม่เทียบเท่าเอกชนแต่สิ่งสำคัญอยู่ที่สวัสดิการซึ่งไม่แพ้ข้าราชการ ดังนั้นในเรื่องของระบบการจ้างงานจึงจำเป็นที่จะต้องมีความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนและสวัสดิการ

"รัฐบาลจำต้องเข้ามากำกับดูแลให้วิชาชีพพยาบาลมีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมซึ่งไม่จำเป็นสูง แต่ต้องมีความมั่นคงอย่างการเรียกร้องบรรจุข้าราชการลูกจ้างชั่วคราวซึ่งไม่ต้องการ เงินเดือนสูงมาก แต่มีความมั่นคงมีสวัสดิการครอบคลุมไปถึงครอบครัว ดังนั้นระบบจ้างงานจึงต้องมีความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อป้องกันการไหลออกในอนาคต

ส่วนกรณีการปรับลูกจ้างชั่วคราวพยาบาลเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณ สุข (กสธ.) นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพต่าง ๆ ต้องไปหารือตกลงกันว่าความเหมาะสมต่อทุกฝ่ายควรเป็นอย่างไรหากทำได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาบุคลากรขาดแคลนได้"

ดร.เสริมศรี สันตติ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริมว่า พยาบาลบางส่วนไม่ได้รับการบรรจุ นอกจากที่จะทำงานหนักแล้ว ค่าตอบแทนน้อย แถมยังไม่มีสวัสดิการหรือความมั่นคงอีก จึงทำให้พยาบาลเหล่านี้ไม่มีกำลังใจในการทำงาน ตรงนี้จึงเกิดสมองไหลไปทำงานเอกชนซึ่งได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่า

ฉะนั้น นอกจากการได้รับการยอมรับในวิชาชีพพยาบาลแล้ว ค่าตอบ แทนในเรื่องวิชาชีพต้องมีอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพที่ทำอยู่ พยาบาลจะได้อุทิศแรงกายแรงใจ เพื่อทำงาน ดูแลสุขภาพของประชาชน โดยที่ไม่ต้องห่วงในเรื่องดังกล่าว

'พยาบาลแม้จะขาดแคลน ผลิตได้น้อย แต่จะทำอย่างไรให้เขาอยู่ในวิชาชีพนี้ต่อไป โดยมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเสริมในทุกปี ๆ โดยที่พยาบาลรุ่นพี่ รุ่นป้า ก็ยังอยู่ไม่ได้ไปไหน มีคนใหม่ก็มาเติมให้เต็ม ไม่ใช่ว่าคนเก่าก็ไม่อยู่ คน ใหม่เข้ามาอยู่ในวิชาชีพเพียงชั่วครู่แล้วก็ออกไปอีก หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลนได้"

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผศ.จริยา กล่าวว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีมีการปรับตัวโดยมุ่งเน้นในเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรพยาบาลยังคงรักษามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของทั้งในประเทศและระดับสากล มีการปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของความเปลี่ยนแปลงในอาเซียน เช่น การจัดหลักสูตรเฉพาะในการดูแลผู้สูงอายุ

รวมไปถึง การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษผ่านการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีแบบ 2 ภาษาทั้งยังจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพยาบาลนานาชาติในระดับปริญญาเอก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐ อเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย และในอนาคตอันใกล้ยังเตรียมที่จะเปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทอีกด้วย

"ในด้านภาษา พยาบาลไทยค่อนข้างเสียเปรียบ ถ้าเทียบกับพยาบาลในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เนปาล สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งทางโรงเรียนพยาบาลตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา มีการเพิ่มรายวิชาให้เป็นภาษาอังกฤษในหลักสูตร ต้องมีการเตรียมความพร้อมนักเรียนพยาบาลให้เก่งทางด้านภาษา เพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้"

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การปรับแผนการผลิตพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จากเดิมที่ผลิตได้ประมาณ 230 คนต่อปี โดยตั้งเป้าที่จะผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 300-350 คนต่อปี

สำหรับนักเรียนพยาบาลเมื่อจบการศึกษา ประกอบอาชีพพยาบาล นอกจากจะต้องภาคภูมิใจในวิชาชีพของตนเองแล้ว จะต้องหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ เพราะวิชาการมีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ตัวเองล้าหลังต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นพยาบาลที่มีคุณภาพต่อไป

ทรรศนะต่อวิชาชีพ'พยาบาล'...ผู้ชายก็เรียนได้

ดลดนัย ใจสินธุ์ นักศึกษาพยาบาลปี 3 กล่าวถึงวิชาชีพพยาบาลว่า ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะเรียนพยาบาล แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปดูงานในโรงพยาบาล เห็นการทำงานของพยาบาลแล้วรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง มีหน้าที่ในการดูแลคนป่วย ซึ่งตนเองก็ชอบ อีกทั้ง เมื่อจบมาแล้วเป็นอาชีพที่มีงานทำแน่ ๆ ไม่ตกงาน

เมื่อได้ฝึกงาน ทำให้รู้ว่าผู้ที่จะทำงานในอาชีพนี้ จะต้องมีใจรัก รักที่จะช่วยเหลือคนอื่น ดูแลคนอื่นที่ไม่ใช่ ญาติพี่น้องของเราเป็นอย่างดี ซึ่งบางครั้งจะต้องมีเรื่องของจิตใจ อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องรู้จักแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ ต้องเข้าใจคนป่วย ซึ่งตรงนี้ต้องถามตัวเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้

เป้าหมายที่วางไว้ เมื่อจบแล้วจะทำงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีต่อ จากนั้นถ้ามีโอกาสจะศึกษาต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่นี่ เพราะที่นี่ยังไม่มีอาจารย์พยาบาลที่เป็นผู้ชายเลย เพราะเมื่อพูดถึงพยาบาล ทุกคนก็จะนึกถึงแต่ผู้หญิง จะมีผู้ชายที่เป็นพยาบาลน้อยมาก มีเพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย ซึ่งตรงนี้คิดว่า ถ้ามีผู้ชายเป็นพยาบาลมากขึ้นจะดีต่อผู้ป่วย เพราะบางครั้งต้องอาศัยกำลังผู้ชายในการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เช่น ในรถฉุกเฉิน หรือ อุบัติเหตุต่าง ๆ ถ้าพยาบาลเป็นผู้ชายน่าจะทำงานได้ดีกว่าผู้หญิง จึงอยากเชิญชวนน้องผู้ชายที่มีจิตอาสาหันมาสนใจในวิชาชีพนี้กันให้มากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555