ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากการจัดตั้งแพทยสภามีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมสถาบันผลิตแพทย์ ควบคุมจรรยาบรรณแพทย์ และควบคุมสถาบันที่ให้การรักษาพยาบาล โดยมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งเป็นสมาชิก หากเกิดปัญหาสามารถช่วยกันแก้ไขได้ทันที ส่วนงานด้านวิชาการได้มอบอำนาจให้ กสพท.ดำเนินการแทน เช่น การอนุมัติหลักสูตร การเปิดโรงเรียนแพทย์ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขณะที่การจัดตั้งคณะแพทย์เป็นอำนาจโดยตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยแต่จะรับนักศึกษาได้ก็ต่อเมื่อหลักสูตรผ่านการรับรองจาก กสพท. แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่าบางมหาวิทยาลัยมีการรับนักศึกษาก่อนเสนอหลักสูตร จนนักศึกษามีปัญหาไม่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ เพราะหลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรอง

ศ.นพ.อาวุธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขอรับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น ปัจจุบันจะมีการสอบ 2 ส่วนคือ การสอบภาคทฤษฎี และปฏิบัติ โดยในส่วนการสอบภาคทฤษฎีนั้นใน 2 ปี จากนี้จะใช้ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษเพื่อความเป็นสากล ส่วนการสอบภาคปฎิบัติยังคงใช้เป็นภาษาไทยโดยเน้นผลการรักษาเป็นหลัก  ขณะเดียวกันในการสอบประมวลความรู้ความสามารถของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ 5 นั้น จะค่อย ๆ ปรับเพิ่มข้อสอบภาษาอังกฤษมากขึ้นจนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

"ขณะนี้ กสพท. กำลังผลักดันให้มีการสอบต่อใบประกอบวิชาชีพฯ ทุก 5 ปี จากเดิมที่สอบครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีพ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของวิชาชีพ และแพทย์จะได้ค้นคว้าและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมารักษาคนไข้ แต่ถ้าใครมีเครดิตทางวิชาการหรือประสบการณ์จากการฝึกอบรมหรือประชุมวิชาการที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่ต้องมาสอบ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีระเบียบให้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนผมก็อยากให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นการพัฒนาวิชาชีพแพทย์ของไทย" ศ.นพ.อาวุธกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง