ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า  ตามที่นางวราภรณ์  นะมาตร์  ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย องค์กรบังหน้า ซึ่งมีบริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริสเป็นผู้สนับสนุนหลัก เพื่อเป็นปากเสียงปกป้องผลประโยชน์ของผู้ค้าบุหรี่ และระบุวัตถุประสงค์หนึ่งของสมาคมว่าต้องการป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  เป็นการแสดงถึงธาตุแท้ของพ่อค้ายาสูบที่คำนึงถึงแต่ผลกำไร  โดยไม่สนใจถึงความทุกข์ทรมานและชีวิตของผู้บริโภคสินค้าที่ตนเองเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ที่ทำให้คนไทยเกือบห้าหมื่นคนเสียชีวิตในแต่ละปี แต่ละคนมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 12 ปี  และป่วยหนักเป็นเวลาสองปีก่อนเสียชีวิต 

บุหรี่เป็นสินค้าที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนเวลาที่ป้องกันได้ที่สำคัญที่สุดของคนไทย การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ร้อยละ 34.35 ของมะเร็งในชายไทยทั้งหมด และร้อยละ 9.6  ในหญิงไทย  และครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ไทย  13 ล้านคน  ที่พยายามจะเลิกสูบบุหรี่  แต่ไม่สามารถจะเลิกได้ เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจการเสพติดของยาสูบ  นอกจากนี้ยาสูบยังเป็นสิ่งเสพติดตั้งต้นที่นำเยาวชนไปติดสิ่งเสพติดอื่น ๆ    และที่น่าอนาถที่สุดคือข้อมูล พ.ศ.2552 ที่คนไทยในกลุ่มที่จนที่สุดหนึ่งล้านคน  ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,094  บาท ต้องเสียเงินไปกับการซื้อบุหรี่เดือนละ 450 บาท  และเมื่อผู้สูบบุหรี่ที่จน ๆ เหล่านี้เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่  ครอบครัวก็ยิ่งเดือดร้อนเป็นทวีคูณ  ในขณะที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เป็นเจ้าของบุหรี่มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็มที่ขายในประเทศไทยมีกำไรถึง 232,500 ล้านบาท  และผู้จัดการของบริษัท นายหลุยส์  คามิลเลอรี่  ได้รับโบนัส 669.6  ล้านบาทเฉพาะปี พ.ศ.2553

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวต่อไปว่า  การที่กระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกันยกร่างกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่  เพราะจำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงในช่วงยี่สิบปีที่มีการใช้กฎหมายควบคุมยาสูบทั้งสองฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่  และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ  ในขณะที่บริษัทบุหรี่ได้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายทำการส่งเสริมการขาย เช่น การใช้พริตตี้ การโฆษณาและขายผ่านอินเตอร์เน็ต การทำกิจกรรมสร้างภาพโดยเฉพาะกับโรงเรียนต่าง ๆ  เพื่อลดทอนกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และเพื่อซื้อความเงียบในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย การออกแบบสีสันซองบุหรี่เพื่อดึงดูดเยาวชน  ประกอบกับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 176 ประเทศที่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก  จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบให้เป็นไปตามที่กำหนดในอนุสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องประชาชนไทยทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต จากการเสพติดและพิษภัยร้ายแรงของการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งอิทธิพลการคัดค้านการออกกฎหมายควบคุมการตลาดของบริษัทบุหรี่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด  ที่ทำให้การสูบบุหรี่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยไม่ลดลง ซ้ำยังกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชน ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงต้องพิจารณาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนที่จะไปคิดคล้อยตามคำเรียกร้องของพ่อค้าบุหรี่หรือองค์กรบังหน้าอย่างเช่นสมาคมการค้ายาสูบไทย 

ศ.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขณะนี้อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงถึงร้อยละ 50 การคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงของบริษัทบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่แสดงถึงความละโมบและไร้ศีลธรรมอย่างที่สุดของบริษัทบุหรี่