ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชง ครม.อังคารหน้าอนุมัติกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู17 ประเด็น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ธ.ค.นี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่างกรอบการเจรจาตกลงการค้าเสรีไทยสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมทั้งรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และให้นำร่างกรอบเจรจาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตาม มาตรา 190 วรรคสาม

ทั้งนี้ กรอบเจรจาเอฟทีเอไทยอียู จะครอบคลุม 17 ประเด็น ซึ่งการเจรจาอาจแยกเป็นรายฉบับได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.พิธีการศุลกากร 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.มาตรการเยียวยาการค้า 5.มาตรการปกป้องด้านดุลชำระเงิน6.มาตรการสุขอนามัย 7.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8.การค้าบริการ 9.การลงทุน

10.การระงับข้อพิพาท 11.ทรัพย์สินทางปัญญา 12.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13.ความโปร่งใส 14.การแข่งขัน 15.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16.ความร่วมมือและ 17.อื่นๆ

ในเอกสารที่จะนำเสนอต่อ ครม.ระบุถึงรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการรับฟังความเห็นในภาพรวมการทำเอฟทีเอไทย-อียูพบว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคสังคมมีความเป็นห่วง ได้แก่ การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าข้อตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่จะก่อให้เกิดการผูกขาดการเกษตรอย่างครบวงจร กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาและการเข้าถึงยาประจำของประชาชน

การเปิดเสรีเครื่องดื่มสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง และการสูญเสียฐานทรัพยากรของประเทศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ไทยมีความจำเป็นต้องทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอียู เพราะจะสร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอียูทั้งด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการ

พร้อมทั้งเป็นการแก้ไขการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ของอียู ซึ่งไทยจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีทั้งหมดในปี 2558 อีกทั้งการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีดังกล่าวยังเป็นการป้องกันการย้ายฐานลงทุนของนักลงทุนอียู และส่งเสริมให้ไทยขยายฐานลงทุนไปอียูด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555